สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน วันสตรีไทย ประจำปี 2566 “สืบสานพระราชปณิธาน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การพัฒนาสตรีที่ยั่งยืน” กิจกรรมและผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากองค์กรสมาชิก ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
เมื่อเวลา 15.25 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2566 โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี, นายจุติ ไกรฤกษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าฯ รับเสด็จ

READ: ‘สมเด็จพระราชินีฯ’ พระราชทาน พระราชดำรัส วันสตรีไทย ประจำปี 2565
ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสุฑาทิพย์ วาทีทิพย์ เลขาธิการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตร และประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ต่อมา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของงานวันสตรีไทย ประจำปี 2566 และ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2566 ว่า “เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาสตรีด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนศักยภาพของสตรี และการสืบสานพระราชปณิธาณสู่การพัฒนาสตรีไทยในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ รวมถึงการรวมพลังกลุ่มองค์กรสตรีจากทั่วประเทศ ในการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยพร้อมใจกันทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล”

จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้มีอุปการคุณ และสตรีไทยดีเด่น ประจำปี 2566 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเข็มที่ระลึก และเกียรติบัตร แล้วทรงจุดเทียนเปิดงาน วันสตรีไทย ประจำปี 2566 พร้อมพระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปีพุทธศักราช 2566 ในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมยินดีด้วยกับทุก ๆ ท่าน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นสตรีไทยดีเด่น ตามที่ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รายงานว่า การจัดงานวันสตรีไทยในปีนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี สู่การพัฒนาสตรีที่ยั่งยืน เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติสืบไปนั้น นับว่าน่าชื่นชมอย่างยิ่ง”
“ทั้งนี้ เพราะในปัจจุบัน สังคมไทยและสังคมโลก มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญ และจำเป็นต่อวิถีการดำเนินชีวิตของทุกคนมากขึ้น ทั้งยังมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์
ในการประกอบอาชีพการงาน และการดำรงชีวิตประจำวันตลอดเวลา นวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านั้น สามารถนำมาเป็นเครื่องมือช่วยสตรีไทยในการพัฒนาตนเอง พัฒนางานที่ทำ ตลอดจนพัฒนาครอบครัว สังคม และชาติบ้านเมืองต่อไปได้”

“ดังนั้น หากทุกคนทุกฝ่าย ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสตรี จะได้ร่วมกันพิจารณา แสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ให้บรรลุผลเป็นประโยชน์ ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้สตรีไทยทุกคน ทุกสาขาอาชีพได้เข้าถึง เข้าใจ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านั้น สามารถเลือกสรรมาใช้ให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและส่วนรวม หรือแม้กระทั่งสามารถสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะสืบสานพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพัฒนาสตรีอย่างยั่งยืนได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานวันสตรีไทยในปีนี้ จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ของการพัฒนาสตรีไทย ดังที่ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติบำเพ็ญมาด้วยดีโดยตลอด อันจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนแท้จริง”

เวลาต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นิทรรศการของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนิทรรศการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสร็จแล้ว ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิและร้านค้าต่าง ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ 904, มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และร้านโกลเด้น เพลซ เป็นต้น โดยระหว่างเสด็จพระราชดำนเนิน เยี่ยมชมการออกร้านของหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ด้วยความสนพระทัย ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชน และเด็ก ๆ ที่มารอเฝ้าฯ รับเสด็จ อย่างไม่ถือพระองค์ สร้างความปลื้มปีติแก่ผู้ที่มาร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง

ประวัติ วันสตรีไทย
สำหรับ ประวัติวันสตรีไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้วันที่ 1 สิงหาคม เป็น “วันสตรีไทย” ตั้งแต่เมื่อพุทธศักราช 2546 เป็นต้นมา และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ “ดอกกล้วยไม้ คัทลียา ควีนสิริกิติ์” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันสตรีไทย ซึ่งสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดงานวันสตรีไทยสืบเนื่องเป็นประจำทุกปี

ในปีนี้ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ได้จัดโครงการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน เยาวชน และเยาวสตรี ที่ขาดแคลนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2566 พระผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของสตรีไทย.
