สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธาน และทอดพระเนตรการแสดงในงาน ‘90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปวงผู้รู้คุณแผ่นดิน น้อมดวงจินต์ถวายพระพร’ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2565 ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ฉลองพระองค์ผ้ากาบบัว ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระกุณฑล และสร้อยพระศอมรกตประดับเพชร กับฉลองพระบาทสีเงิน

สำหรับงาน ‘90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปวงผู้รู้คุณแผ่นดิน น้อมดวงจินต์ถวายพระพร’ จัดขึ้นโดย ชมรมผู้รู้คุณแผ่นดิน เพื่อถวายพระพรชัยมงคล และเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ภายในงาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการกล่าวอศิรวาทถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานชมรมผู้รู้คุณแผ่นดิน และคณะกรรมการจัดงานฯ จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงจากองค์กรสมาชิกชมรมผู้รู้คุณแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วยองค์กรในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบรมราชินูปถัมภ์ พระราชูปถัมภ์ รวม 10 องค์กร


นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน เจนเซน ร่วมขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ‘Echo’ และ ‘Somewhere Somehow’ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ร่วมขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ความฝันอันสูงสุด’ รวมถึงนักร้องอาชีพ อาทิ พลอย – ทิพย์ปริญา พันตาวงษ์กุล, ภูมิ แก้วฟ้าเจริญ และ ผิงผิง – สรวีย์ ธนพูนหิรัญ จากรายการ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ เป็นต้น และจบลงด้วยบทเพลงอันไพเราะ ‘แผ่นดินของเรา’ โดย ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน เจนเซน, ม.ล.สราลี กิติยากร, คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล และตัวแทนจากองค์กรสมาชิกฯ


หลังเสร็จสิ้นการแสดง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เชิญช่อดอกไม้พระราชทาน ไปมอบให้แก่ศิลปินรับเชิญ และผู้ควบคุมวงดนตรี ประกอบด้วย ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน เจนเซน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ม.ล.สราลี กิติยากร ผู้แทนนักแสดง และนาวาเอก อภิเชษฐ์ พยนต์เลิศ ผู้อำนวยการเพลง ก่อนเสด็จฯ กลับ

ฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ฉลองพระองค์ผ้ากาบบัว ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ออกแบบและควบคุมการทอและทำการย้อมโดย นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ (ทัศนศิลป์ ถักทอ) ปี 2564 โดยสืบสานและต่อยอดจากภูมิปัญญาของผู้เป็นมารดา คือนางคำปูน ศรีใส (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ปี 2561 ซึ่ง ‘ผ้ากาบบัว’ เป็นผ้าเอกลักษณ์ จ.อุบลราชธานี คิดค้นและออกแบบใน พ.ศ. 2543 โดย นายมีชัย แต้สุริยา และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรมในพ.ศ. 2557 มี 3 ชนิดดังนี้
- ผ้ากาบบัวชนิดมาตรฐานทอด้วย 4 เทคนิค คือ เส้นยืนสลับเป็นริ้วอย่างน้อย 2 สี อย่างซิ่นทิวเมืองอุบล และเส้นพุ่ง 3 ชนิดทอสลับกัน ได้แก่ มัดหมี่, มับไม (เส้นไหม 2 สีตีเกลียวแบบหางกระรอก) และ ขิด (หรือยก)
- ผ้ากาบบัว จกดาว เส้นยืนทิว (แบบผ้าซิ่นทิวเมืองอุบล) เส้นพุ่ง ทอสลับ การจกแบบจกดาว บนผืนผ้าแบบซิ่นทิว
- ผ้ากาบบัวคำ (ผ้ากาบบัวยกทอง) เป็นผ้ายกทอง ผสมผสานการจบไหมสีต่างๆ และอาจมีการทอผสมผสานด้วยมัดหมี่ในผืนเดียวกัน
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กล่าวว่า ชมรมผู้รู้คุณแผ่นดินก่อตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2549 ซึ่งขณะนั้นกำลังมีเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นเป็นรายวัน ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน อาสาสมัคร ประชาชนในพื้นที่ แม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ ต้องพบกับความสูญเสียอย่างน่าสลดใจ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้สมาคมต่าง ๆ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ร่วมมือกันแสดงออกถึงความห่วงใยเพื่อนร่วมชาติผู้อยู่ห่างไกลถึงชายแดนใต้ เพื่อมิให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวและมีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไป โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกองค์กรที่จะเดินตามรอยพระยุคลบาทแห่งพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ด้าน ดร.ศศมณฑ์ สงวนสิน ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงานฯ และนายกสมาคมศิษย์เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เผยว่า “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงศึกษาชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ระหว่างปี พ.ศ. 2483 – 2489 คณะเซอร์ ครู นักเรียน ตลอดจนศิษย์เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ทุกคน จึงน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชจริยวัตรของพระองค์เป็นแบบอย่างเสมอมา
นอกจากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับสมาคมศิษย์เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พระองค์ยังเสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยือนโรงเรียนถึง 4 ครั้ง โดยที่ผ่านมาโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านในฐานะทรงเป็น “ศิษย์เกียรติยศ” ผู้ทรงเป็นปิ่นนารีศรีเซนต์ฟรังฯ รวมถึงงานครบรอบการก่อตั้ง 100 ปีที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ด้วย ส่วนการแสดงของโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ฯ ครั้งนี้ตั้งใจถ่ายทอดความรักและความผูกพันระหว่างพระองค์กับโรงเรียนฯ ผ่านจินตลีลาประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ Love At Sundown”



