พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เมื่อเวลา 17.51 น. วันที่ 22 เมษายน 2565 เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน ‘ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์’ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม, นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา, ข้าราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ

ครั้นเสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธมงคลชินสีห์วชิรมุนี พระประธานพระอุโบสถ ทรงกราบ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ทรงกราบ แล้วประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร เข้าเฝ้าฯ ทูลแกล้าฯ ถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ‘ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์’ จบแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาลาดพระภูษาโยง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงทอดผ้าไตร 10 ไตร ประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์สดับปกรณ์ ทรงหลังทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ เสด็จฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ พระธรรมโพธิมงคล เจ้าอาวาสวัดสระเกศถวายของที่ระลึก เสด็จออกจากพระอุโบสถ โดยประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถระ)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัยสักการะพระอัฐิสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ 13 พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร) เจ้าอาวาส ลำดับที่ 14 และสมเด็จพะพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสลำดับที่ 15 ทรงคม


จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังบริเวณด่านล่างของพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และเสด็จขึ้นพระบรมบรรพตทางบันได จำนวน 344 ขั้น ครั้นเสด็จขึ้นลานองค์พระเจดีย์บรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) ด้านบนสุด ทรงรับผ้าห่มองค์พระเจดีย์บรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม แล้วประนมพระหัตถ์ทรงว่า “นะโม ตัสสะฯ” จบ 3 หน แล้วทรงกล่าวคำถวายผ้าห่มองค์เจดีย์บรมบรรพต จบแล้ว พระราชทานผ้าห่มให้เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญไปคล้องที่องค์พระเจดีย์บรมบรรพต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงชักสายสูตรห่มผ้าที่องค์พระเจดีย์บรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) ขณะนี้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทรงกราบ จากนั้นเสด็จลงจากลานพระเจดีย์บรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) ด้านบนสุดทางบันไดเล็ก
เมื่อเสด็จฯ ไปถึงห้องโถงพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธย ในแผ่นศิลา เสด็จลงจากห้องโถงพระบรมบรรพต ทรงพระดำเนินไปยังห้องประทับรับรอง ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถระ) ประทับพระราชอิริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย เมื่อสมควรแก่เวลา เสด็จฯ กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ประวัติวัดภูเขาทอง
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และทรงให้ขุดคลองรอบเมืองขึ้นตั้งแต่บางลำพูถึงตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส คลองหลอด คลองเหนือวัดสระแก พระราชทานชื่อว่า คลองมหานาค
เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ พระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า วัดสระเกศ แปลว่า ชำระหรือทำความสะอาดพระเกศา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเคยประทับและประกอบพิธีสรงมุรธาภิเษก เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล ตรงกับพุทธศักราช 2325 เมื่อครั้งเสด็จฯ กรีธาทัพกลับจากกัมพูชา และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อพุทธศักราช 2325

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์ มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูงจากฐานถึงยอด 63.6 เมตร ฐานรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 150 เมตร

สำหรับองค์พระเจดีย์มีความสูง 59 เมตร ฐานรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เมตร และเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2497 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์บนยอดพระบรมบรรพต ต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2509 เสด็จฯ ไปทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยอดพระเจดีย์บรมบรรพต

รวมทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ก่อนเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายโมเสคสีทองแบบเรียบเพื่อซ่อมแซมพระเจดีย์บรมบรรพต
ซึ่งบนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ สาธารณรัฐอินเดีย และตามที่ปรากฏคำจารึกเป็นหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดม จึงถือได้ว่าวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์มาแต่ต้น

พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์ก่อสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะสงฆ์สืบมาโดยลำดับ และทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระบรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) และประเพณีห่มผ้าแดง เพื่อบูชาองค์พระเจดีย์ในวันขึ้น 13 ค่ำ 14 ค่ำ และขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยมีประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ เดินทางมาร่วมงาน
และสักการะพระบรมสารีริกธาตุเป็นจำนวนมาก.


อ่านข่าวพระราชสำนักเพิ่มเติม