เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2023 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ราชวงศ์จอร์แดน และประชาชนในประเทศได้ร่วมเฉลิมฉลอง พระราชพิธีอภิเษกสมรสใน มกุฎราชกุมารฮุสเซน พระราชโอรสพระองค์แรกใน สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 อิบน์อัลฮุสเซน และสมเด็จพระราชินีราเนีย แห่งจอร์แดน กับพระคู่หมั้นชาวซาอุดิอาระเบีย ราจวา อัล ซาอีฟ ซึ่งจัดขึ้น ณ พระราชวังซาห์ราน และ พระราชวังอัล ฮุสเซนนิย่า กรุงอัมมาน โดยมีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์จอร์แดน และสมาชิกพระราชวงศ์จากนานาประเทศเสด็จฯ มาทรงร่วมแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก

สำนักพระราชวังจอร์แดนได้เผยแพร่ภาพพระราชพิธีอภิเษกสมรส ที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การส่งตัวเจ้าสาวเข้าสู่พิธี โดย ‘เจ้าชายฮาเซม’ พระราชอนุชาในมกุฎราชกุมารฮุสเซน ทรงรับหน้าที่ดังกล่าว สะท้อนถึงความสนิทสนมและสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างเจ้าสาวและสมาชิกราชวงศ์จอร์แดน โดยพิธีช่วงเช้าที่พระราชวังซาห์รานซึ่งประกอบด้วยพิธีทางศาสนา และการแลกพระธำมรงค์ เจ้าสาวเปล่งประกายความสวยในชุดจากแบรนด์ Elie Saab และเทียร่าองค์ใหม่ ท่ามกลางสักขีพยาน ประกอบด้วย สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 อิบน์อัลฮุสเซน, สมเด็จพระราชินีราเนีย, เจ้าหญิงอิมาน, เจ้าหญิงซาลมา และเจ้าชายฮาเชม



รวมทั้งพระราชอาคันตุกะระดับราชวงศ์ ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลลิป และ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ แห่งเบลเยี่ยม, สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม อเล็กซานเดอร์, สมเด็จพระราชินีแม็กซิม่า และ เจ้าหญิงแคทารีน่า อาร์เมเลีย แห่งเนเธอร์แลนด์, สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ และ เจ้าชายอับดุล มาทีน แห่งบรูไน, สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา แห่งภูฏาน, เจ้าชายวิลเลี่ยมและแคเธอรีน เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์, เจ้าหญิงเบียทริซ และ เอดูอารืโด้ มาเปลลี มอสซี, มกุฎราชกุมารเฟรเดอริก และ มกุราชกุมารีแมรี่ แห่งเดนมาร์ก, มกุฎราชกุมารีวิกตอเรีย และ เจ้าชายแดเนียล แห่งสวีเดน เป็นต้น

เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีช่วงเช้า มกุฎราชกุมารฮุสเซน และราจวา ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็น ‘เจ้าหญิงราจวา อัล ฮุสเซน’ ได้เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งในขบวนเฉลิมฉลองพระราชพิธอภิเษกสมรส จากพระราชวังซาห์รานไปยังพระราชวังอัล ฮุซเซนนิย่า เพื่อพระราชทานวโรกาสให้ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ โดยมีการจัดรูปแบบขบวนเป็นรูปธงชาติจอร์แดน ขณะที่รถยนต์พระที่นั่งที่มกุฎราชกุมารและเจ้าหญิงราจวาประทับ เป็นรถยนต์พระที่นั่งคันเดียวกับรถยนต์พระที่นั่งที่สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 อิบน์อัลฮุสเซน และสมเด็จพระราชินีราเนีย ประทับเมื่อพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเมื่อปี 1993

ช่วงเย็นวันเดียวกัน มีพระราชพิธีฉลองอภิเษกสมรส และพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ที่พระราชวังอัล ฮุสเซนนิย่า ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ และสมาชิกราชวงศ์จากนานาประเทศเสด็จฯ มาทรงร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียงอีกครั้ง เป็นอีกหนึ่งช่วงพระราชพิธีที่ได้รับความสนใจจากแฟน ๆ ราชวงศ์ทั่วโลก เนื่องจากพระราชวงศ์ฝ่ายสตรีได้รับเชิญให้สวมใส่มงกุฎและเทียร่า ทำให้ทั่วทั้งงานละลานตาไปด้วยฉลองพระองค์อันงดงาม รวมไปถึงเทียร่าและเครื่องประดับสุดเลอค่าที่ส่องประกายระยิบระยับ

ทว่าผู้ที่ทรงโดดเด่นที่สุดในงานยังเป็น ‘เจ้าหญิงราจวา’ ซึ่งในพิธีช่วงเย็นนี้ได้ฉลองพระองค์ที่มีดีไซน์โดดเด่นจากแบรนด์ Dolce & Gabbana และทรงเทียร่าที่มีชื่อในภาษาอาราบิกว่า “Rajwatum min Allah” หมายความว่า “Hope in God” โดยพระนาม “Rajwa” ของพระองค์ มีความหมายว่า “ความหวัง” หรือ Hope นั่นเอง ในการนี้ มกุฎราชกุมารฮุสเซนและเจ้าหญิงราจวาทรงตัดเค้กอภิเษกสมรสตามประเพณีสมรสแบบชาวตะวันตกด้วย

มกุฎราชกุมารฮุสเซน หรือเจ้าชายฮุสเซน แห่งจอร์แดน พระราชโอรสพระองค์แรกใน ใน สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 อิบน์อัลฮุสเซน และสมเด็จพระราชินีราเนีย แห่งจอร์แดน ประสูติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1994 ทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก King’s Academy และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์โลก ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในปี 2016 ก่อนสำเร็จการศึกษาด้านทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ สหราชอาณาจักร ในปี 2017 โดยปัจจุบันทรงดำรงยศร้อยเอก ในสังกัดกองทัพจอร์แดน ปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ ทั้งด้านสังคมและการทหารเพื่อสนับสนุนการทรงงานของพระราชบิดา


ในวันที่ 17 สิงหาคม 2022 สำนักพระราชวังจอร์แดนมีประกาศเรื่องการหมั้นระหว่างมกุฎราชกุมารฮุสเซน และราจวา อัล ซาอีฟ สามัญชนชาวซาอุดิอาระเบีย บุตรสาวคนเล็กของ คาลิด มูซาเอ็ด บิน ซาอีฟ บิน อับดุลาซิซ อัล ซาอีฟ (Khaled bin Musaed bin Saif bin Abdulaziz Al Saif ) นักธุรกิจด้านการโยธาอันดับต้น ๆ ของซาอุฯ และอัซซา บินท์ นาเยฟ บิน อับดุลาซิซ บิน อาห์เหม็ด อัล ซุไดรี (Azza bint Nayef bin Abdulaziz bin Ahmed Al Sudairi) ผู้สืบเชื้อสายเดียวกับพระราชมารดาสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งซาอุดิอาระเบียองค์ปัจจุบัน


ราจวา เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 1994 สำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก Syracuse University ก่อนทำงานในบริษัทสถาปนิกและเรียนไปด้วยกระทั่งได้รับปริญญาจาก Fashion Institute of Design & Merchandising อีกใบ
หลังจากเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฮุสเซน ราจวาได้รับการสถาปนาเป็น ‘เจ้าหญิงราจวา อัล ฮุสเซน’ พร้อมเฉลิมพระอิสริยยศ Her Royal Highness.

Courtesy Photo of RHCJO/ GETTY