ในบรรดาผู้นำและบุคคคลสำคัญจากนานาประเทศที่เดินทางมาร่วมการประชุม APEC 2022 (เอเปค 2022) ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยยังได้ถวายการต้อนรับ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ และ มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ที่เสด็จฯ มาทรงร่วมการประชุมในฐานะผู้แทนประเทศ โอกาสนี้ HELLO! ขอพาแฟน ๆ ไปทำความรู้จัก สุลต่านบรูไน และ มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย มากขึ้น ผ่านพระราชประวัติคร่าว ๆ ของทั้งสองพระองค์

สำหรับ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงเป็นสุลต่านองค์ที่ 29 แห่งบรูไน และยังทรงเป็นสุลต่านบรูไนพระองค์แรกที่ทรงพระอิสริยยศเป็นยังดีเปอร์ตวน หรือ ‘สมเด็จพระราชาธิบดี’ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของ ‘สุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดีนที่ 3’ กับ ‘เจ้าหญิงดามิต’ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ ประเทศอังกฤษ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2510 โดยปัจจุบันนอกจากเป็นกษัตริย์แห่งบรูไน ยังทรงเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ด้านชีวิตส่วนพระองค์ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงมีพระชายา 3 พระองค์ และพระราชโอรส-พระราชธิดา 12 พระองค์ ดังนี้
- อัซรีนาซ มาซาร์ ฮาคิม พระองค์ (ทรงหย่าเมื่อปี พ.ศ. 2553) มีพระราชโอรส 1 พระองค์ พระราชธิดา 1 พระองค์
- เจ้าชายอับดุล วากีล
- เจ้าหญิงอามีราห์ วาร์ดาตุล
- พระมเหสีเป็งงีรัน อิสตรี ฮัจญะห์ มาเรียม (ทรงหย่าเมื่อปี พ.ศ. 2546) มีพระราชโอรส 2 พระองค์ พระราชธิดา 4 พระองค์
- เจ้าชายอับดุล อาซิม
- เจ้าหญิงอาเซมาห์
- เจ้าหญิงฟัดซิลลาห์
- เจ้าชายอับดุล มาทีน
- สมเด็จพระราชินีซาเลฮาแห่งบรูไน พระราชโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดา 4 พระองค์
- เจ้าหญิงราชิดาห์
- เจ้าหญิงมูตา วะก์กีละห์
- เจ้าชายอัลมุห์ตาดี บิลละห์ มกุฎราชกุมารแห่งบรูไน
- เจ้าหญิงมาจีดะห์
- เจ้าหญิงฮาฟีซะห์
- เจ้าชายอับดุล มาลิก
ในปี พ.ศ. 2551 สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก จากการประเมินรายสุทธิของนิตยสาร Forbes และหลังจาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ทรงเป็น ‘พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก’ รวมทั้งเป็นประมุขแห่งรัฐที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ซึ่งพระองค์ทรงเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ด้าน มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมักปรากฏในสื่อด้วยพระนามย่อ MBS เป็นพระราชโอรสพระองค์โตของ ‘สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน’ พระประมุขแห่งซาอุดีอาระเบียองค์ปัจจุบัน กับพระชายาพระองค์ที่ 3 ‘ฟาห์ดาห์ บินท์ ฟาลาห์ บิน ซัลตาน’ ประสูติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2528 หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายจาก King Saud University พระองค์ทรงงานในภาคเอกชน ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษของพระบิดา ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงริยาดเมื่อปี พ.ศ. 2552
หลังจากนั้นทรงสั่งสมประสบการณ์ด้านการบริหารบ้านเมืองในหลายตำแหน่ง กระทั่งปี พ.ศ. 2558 ทรงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และได้รับการแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมารในปี พ.ศ. 2560 พระองค์ทรงอยู่เบื้องหลังการผลักดันสังคมและเศรษฐกิจของประเทศซาอุดิอาระเบียตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียจากเดิมที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลัก ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธาน กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย (Public Investment Fund – PIF) ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านปอนด์ จากการลงทุนในบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น ดิสนีย์, เฟซบุ๊ก และ สตาร์บัคส์ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2563 ทรงลงทุนในบริษัทพัฒนาเกมหลายแห่งทั้ง Activision Blizzard, Take-Two Interactive และ Electronic Arts รวมถึงช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ยังเข้าซื้อทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ครอบครองหุ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเงินกว่า 300 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท)
ชีวิตส่วนพระองค์ มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เสกสมรสกับ ซารา บินต์ มัชฮูร์ มัชโฮร์ ในปี พ.ศ. 2551 มีพระโอรสและพระธิดา 5 พระองค์ โดยมีรายงานว่าในปี พ.ศ. 2558 ทรงซื้อเรือซูเปอร์ยอตช์ Serene ที่สร้างขึ้นในอิตาลีเป็นเงินกว่า 500 ล้านยูโร (ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท) รวมถึงทรงครอบครองคฤหาสถ์ที่แพงที่สุดในโลกอย่าง Château Louis XIV Château Louis XIV ในราคากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท).
Courtesy Photo of Thai Royal Office