เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด – 19 ที่ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกตลอดปี 2564 แม้ช่วงปลายปีวิกฤติเริ่มทุเลาลงจากเร่งกระจายวัคซีน แต่ยังส่งผลให้การปรากฏพระองค์ในที่สาธารณชนของสมาชิกราชวงศ์ต่าง ๆ เป็นไปได้ยากมากขึ้น ทว่ายังมีความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์สำคัญที่ต้องรวบรวม ย้อนมาให้ติดตามกันอีกครั้ง

เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ สิ้นพระชนม์
เหตุการณ์ใหญ่แห่งปีที่สร้างความโศกเศร้าแก่ทั้งชาวอังกฤษและผู้ติดตามข่าวราชวงศ์ทั่วโลกคงหนีไม่พ้นการสิ้นพระชนม์ของ ‘เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ’ พระราชสวามีใน ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ ทรงสิ้นพระชนม์อย่างสงบเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 สิริพระชนมายุ 99 ปี ท่ามกลางความอาลัยของประชาชนทั่วโลก เนื่องจากตลอดพระชนม์ชีพ เจ้าชายฟิลิปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจมากมายซึ่งสร้างประโยชน์คุณูปการให้แก่โลกใบนี้ในหลาย ๆ ด้วย และด้วยพระจริยวัตรอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ทรงเป็นที่รักของผู้คนจำนวนมาก


หลังการสิ้นพระชนม์ สำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมมีการจัดพิธีฝังพระศพขึ้นอย่างเรียบง่ายท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันเสาร์ที่ 17 เมษายน ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ หากแต่ยังคงงดงามสมพระเกียรติด้วยขบวนเคลื่อนพระศพจากพระราชวังวินด์เซอร์ไปยังโบสถ์เซนต์จอร์จ โดยมีพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา ทรงพระดำเนินร่วมขบวน ขณะที่ชาวอังกฤษจำนวนมากเดินทางไปวางช่อดอกไม้เพื่อถวายความอาลัยแด่เจ้าชายฟิลิปเป็นครั้งสุดท้าย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงต้อนรับ 4 พระราชปนัดดา
แม้ต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ แต่ราชวงศ์อังกฤษเองก็มีข่าวดีมาให้ร่วมยินดีตลอดปีกับการต้อนรับสมาชิกใหม่ถึง 3 คนเริ่มจาก ‘ออกัสต์ ฟิลิป ฮอว์ก บรูกส์แบงก์’ โอรสองค์แรกใน ‘เจ้าหญิงยูจินีแห่งยอร์ก’ กับพระสวามี ‘แจ็ก บรูกส์แบงก์’ เกิดเมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ณ โพงยาบาลพอร์ตแลนด์ กรุงลอนดอน อันเป็นสถานที่ประสูติของเจ้าหญิงยูจินีและเจ้าหญิงเบียทริซ โดย ‘ออกัสต์ บรูกส์แบงก์’ เป็นพระราชปนัดดาลำดับที่ 9 ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ชื่อ ‘ออกัสต์’ แปลว่า ความยิ่งใหญ่ ความงดงาม และเป็นพระนามกลางของเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ส่วนชื่อ ‘ฮอว์ก’ ได้จากญาติผู้ใหญ่ฝ่ายบิด แม้ว่าจะมีมารดาเป็นเจ้าหญิงแต่ออกัสต์จะได้ยศนำหน้าชื่อว่า Master Brookbank

ถัดมาที่ ‘ลูคัส ทินดัลล์’ บุตรชายของ ‘ซาร่า ทินดัลล์’ พระธิดาในเจ้าหญิงแอนน์ กับ ‘ไมค์ ทินดัลล์’ เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 ที่บ้านพักส่วนตัวของไมค์และซาร่าใน Gatcombe Park โดยไมค์ประกาศข่าวดีในพอดคาสต์ของตัวเอง The Good, The Bad & The Rugby พร้อมเปิดเผยว่าลูกชายเกิดที่พื้นห้องน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่ทันได้ไปที่โรงพยาบาล ลูคัสถือเป็นลูกชายคนแรกของซาร่าและไมค์ หลังจากทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกันมาแล้ว 2 คน ได้แก่ มีอา และเลนา ชื่อเต็มของลูคัสคือ ‘ลูคัส ฟิลิป ทินดัลล์’ ซึ่งชื่อกลางมาจากพระปัยยกา ‘เจ้าชายฟิลิป’ และคุณปู่ ‘ฟิลิป ทินดัลล์’ บิดาของไมค์

‘ลิลิเบ็ต ไดอาน่า เมานต์แบตเท็น วินด์เซอร์’ พระธิดาใน ‘เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน’ ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซ็กส์ เกิดเมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 4 มิถุนายน ณ โรงพยาบาลซานตา บาบาร่าคอจเทจ รัฐแคลิฟอเนีย หลังจากเกิดได้ 2 วัน เจ้าชายแฮร์รี่และดัชเชสเมแกนทรงประกาศข่าวดีให้สาธารณชนร่วมแสดงความยินดี พร้อมเผยชื่อพระธิดา ‘ลิลิเบ็ต ไดอาน่า เมานต์แบตเท็น วินด์เซอร์’ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ ผู้เป็นพระปัยยิกา (ย่าทวด) และ ‘ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ พระอัยยิกา (ย่า) ซึ่งหลังจากปล่อยให้รอมานานกว่า 6 เดือน ทั้งสองพระองค์เพิ่งเผยโฉมพระธิดาเป็นครั้งแรกในการประทานบัตรอำนวยพรเนื่องในวันคริสต์มาส ที่ผ่านมา


ปิดท้ายที่ ‘เซียนน่า เอลิซาเบธ มาเปลลี มอสซี’ พระธิดาพระองค์แรกใน ‘เจ้าหญิงเบียทริซแห่งยอร์ก’ กับ ‘เอดูอาร์โด มาเปลลี มอสซี’ เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 ที่โรงพยาบาลเชลซี แอนด์ เวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 จึงทรงประกาศชื่อพระธิดาซึ่งเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ พร้อมเผยรอยพิมพ์ลายเท้า แต่ยังไม่มีการเผยโฉมพระธิดาให้สาธารณชนได้ร่วมชื่นชมความน่ารัก

เจ้าหญิงมาโกะแห่งอะกิชิโนะ ทรงสละฐานันดรศักดิ์แต่งงานกับพระคู่หมั้นสามัญชน
ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ‘เจ้าหญิงมาโกะแห่งอากิชิโนะ’ พระธิดาพระองค์โตใน ‘เจ้าชายฟุมิฮิโตะและเจ้าหญิงคิโกะ’ มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารีแห่งญี่ปุ่น ทรงเสกสมรสกับพระคู่หมั้นสามัญชน ‘เคอิ โคมุโระ’ หลังจากทรงประกาศคบหากับฝ่ายชายมานานกว่า 4 ปี ซึ่งจากปัญหาด้านการเงินของมารดานายโคมุโระ ทำให้เจ้าหญิงมาโกะทรงตัดสินพระทัยจดทะเบียนสมรสกับพระคู่หมั้นโดยไม่มีการจัดพิธีตามพระราชประเพณีปกติ และย้ายไปใช้ชีวิตแบบสามัญชนที่สหรัฐอเมริกา พร้อมปฏิเสธการรับเงินจำนวนกว่า 150 ล้านเยน (ประมาณ 43.5 ล้านบาท) ตามประเพณี ที่มักให้กับสมาชิกราชวงศ์ที่ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ภายหลังการจัดทะเบียนสมรส เจ้าหญิงทรงย้ายไปพำนักที่คอนโดมิเนียมของเคอิเป็นการชั่วคราว ก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 และเริ่มต้นการใช้ชีวิตสามัญชนในฐานะ ‘มาโกะ โคมุโระ’ อย่างเป็นทางการ

เจ้าหญิงไอโกะทรงบรรลุนิติภาวะ
การลาออกจากฐานันดรศักดิ์ของเจ้าหญิงมาโกะ ทำให้ราชวงศ์เบญจมาศของญี่ปุ่นได้รับความสนใจมากขึ้น รวมถึงการบรรลุนิติภาวะของ ‘เจ้าหญิงไอโกะ’ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวใน ‘สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ’ และ ‘สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ’ ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหญิงไอโกะจะทรงเข้ามีบทบาทในราชวงศ์มากขึ้นผ่านการปฏิบัติกรณียกิจต่าง ๆ โดยพิธีบรรลุนิติภาวะ จัดขึ้นที่พระราชวังอิมพีเรียล ในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 หลังทรงเจริญพระชันษา 20 ปี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งเจ้าไอโกะทรงเลือกไม่สั่งทำรัดเกล้าใหม่สำหรับพิธีดังกล่าว เนื่องจากทรงคำนึงถึงประชาชนภายใต้ความยากลำบากท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จึงทรงสวมรัดเกล้าของ ‘ซายาโกะ คุโรดะ’ (อดีตเจ้าหญิงซายาโกะ) ซึ่งเป็นพระปิตุจฉา (ป้า) ในเจ้าหญิงไอโกะ และพระขนิษฐา (น้องสาว) ในสมเด็จพระจักรพรรดิ ที่ทรงสละฐานันดรศักดิ์หลังแต่งงานกับชายสามัญชนเมื่อปี 2548

เจ้าหญิงชาร์แห่งโมนาโกทรงประทับรักษาพระอาการประชวรที่ประเทศแอฟริกาใต้นานกว่า 6 เดือน
หลังจากเสด็จฯ เยือนแอฟริกาใต้ในเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อทรงเปิดมูลนิธิเจ้าหญิงชาร์ลีนแห่งโมนาโก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการลักลอบล่าแรด ‘เจ้าหญิงชาร์ลีนแห่งโมนาโก’ ทรงพระประชวรด้วยอาการติดเชื้อทางหู คอ จมูก ทำให้พระองค์เสด็จฯ กลับโมนาโกไม่ได้นานกว่า 6 เดือน เนื่องจากทรงต้องเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง และเป็นเหตุให้ทรงพลาดหมุดหมายสำคัญไปหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการไปโรงเรียนวันแรกเจ้าชายฌากส์และเจ้าหญิงกาเบรียลล่า พระราชโอรสและพระราชธิดาฝาแฝด รวมทั้งการฉลองราชาภิเษกสมรสครบ 10 ปีกับ ‘เจ้าชายอัลแบร์’ พระราชสวามี ก่อนทรงหวนคืนสู่อ้อมอกครอบครัวอีกครั้งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2564

เจ้าชายฟิลิปปอส ทรงเข้าพิธีเสกสมรสกับ นีน่า-นาสทาสเซียฟลัวร์
‘เจ้าชายฟิลิปปอสแห่งกรีซและเดนมาร์ก’ พระราชโอรสพระองค์เล็กใน ‘สมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 และสมเด็จพระราชินีแอนน์-มารีแห่งกรีซ’ ทรงเข้าพิธีเสกสมรสกับ ‘นีน่า-นาสทาสเซีย ฟลัวร์’ (Nina-Nastassja Flohr) นักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 23 ตุลาคม 2564 ณ มหาวิหารเมโทรโพลิแทน กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งนับเป็นพิธีเสกสมรสอย่างเป็นทางการ หลังจากทรงจัดงานเล็ก ๆ ที่มีเพียงสมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 และบิดาของฝ่ายเจ้าสาวร่วมเป็นสักขีพยาน ที่เซนต์ โมริตซ์ (St.Moritz) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 และมีจัดพิธีฉลองเสกสมรสร่วมกับพระสหายในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ที่สติบบิงตัน เฮาส์ บ้านพักของสาวสังคมอย่าง ‘อลิซ เนเลอร์-ลีย์แลนด์’ ในสหราชอาณาจักรโดยเดือนกันยายนที่ผ่านมา นีน่าได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งกรีซและเดนมาร์ก’ พร้อมฐานันดรศักดิ์ ‘รอยัล ไฮเนส’

พิธีเสกสมรสของ แกรนด์ดยุคจอร์จ มิไคโลวิช โรมานอฟ และรีเบ็กก้า เบ็ตตารินี
นับเป็นเวลาล่วงเลยมากว่าหนึ่งศตวรรษแล้วที่ราชวงโรมานอฟได้ถูกโค่นล้มโดยพวกบอลเชวิก ‘แกรนด์ดยุคจอร์จ มิไคโลวิช โรมานอฟ’ ทรงเป็นพระราชปนัดดาในแกรนด์ดยุคคิริลล์ วลาดิมีโรวิช ซึ่งทรงหลบหนีจากรัสเซียในการปฏิวัติของบอลเชวิก พระบิดาคือเจ้าชายฟรันช์วิลเฮล์มแห่งปรัสเซีย ส่วนรีเบ็กก้าเป็นบุตรีนักการทูตชาวอิตาเลียน พิธีเสกสมรสครั้งนี้นับเป็นพิธีเสกสมรสครั้งแรกในรัสเซียหลังการปฏิวัติ พิธีถูกจัดขึ้นอย่างหรูหราอลังการ โดยมีราชวงศ์ยุโรปและบุคคลสำคัญกว่า 1,500 คน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564

หางชุดเจ้าสาวผ้าไหมอิตาลียาว 23 ฟุตของห้องเสื้อ Reem Acraแผ่เต็มทางเดินในมหาวิหารเซนต์ไอแซก สวมผ้าคลุมหน้าที่ประดับรูปนกอินทรีสองหัว พระราชลัญจกรแห่งราชวงศ์โรมานอฟ สวมทับด้วยเทียร่าลาซิสประดับเพชร 27 กะรัต โดยมี Chaumet เมซงเครื่องประดับเป็นผู้ออกแบบและจัดทำ ส่วนพระธำมรงค์ของบ่าวสาวนั้นออกแบบโดย Faberge หลังสิ้นสุดพิธีการทางศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธด็อกซ์ รีเบ็กก้าได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วิกตอเรีย โรมาโนวา’ ทั้งสองได้ไปฉลองกันที่กาลาดินเนอร์หรูซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณา และมื้อกลางวันในวันรุ่งขึ้นที่พระราชวังคอนสแตนติน ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ประชุมและโรงแรม