องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันสตรีสากล’ (International women’s day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิ ความเท่าเทียม และบทบาทของสตรี โอกาสนี้ HELLO! ขอส่งท้ายสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลด้วยการรวบรวม ‘ราชนิกุลหญิงทรงอิทธิพล’ ที่แม้เป็นสตรีแต่ทรงมีบทบาทในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายมิติ แสดงให้โลกประจักษ์ถึงพระปรีชาที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุรุษ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทุกเพศทุกวัย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุด พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1952 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงสหราชอาณาจักรกำลังฟื้นตัวจากสภาวะสงคราม ด้วยความที่ทรงครองสิริราชสมบัติตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา ทำให้พระองค์ได้รับการสบประมาทไม่น้อย และได้รับการกล่าวขานว่าราวกับทรงเป็น ‘ราชินีในเทพนิยาย’ แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหานานัปการ
อีกทั้งทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์องค์กรและมูลนิธิต่าง ๆ มากกว่า 600 แห่ง ทำให้แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราชวงศ์ต้องเผชิญกับวิกฤติที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในใจของหลายคนทั่วโลก โดยปี 2022 ทรงสร้างประวัติศาสตร์เป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักรพระองค์แรกที่มีการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปี และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์นานที่สุดในโลก

สมเด็จพระราชินีราเนียแห่งจอร์แดน
สมเด็จพระราชินีใน ‘สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2’ ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอเมริกัน กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ต่อมาทรงเข้าทำงานที่ธนาคารซิตีแบงก์ในแผนกการตลาด และทำงานกับบริษัทแอปเปิลในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน นับตั้งแต่ทรงเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสในปี 1993 พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวจอร์แดนในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ การเสริมสร้างพลังชุมชน เยาวชน วัฒนธรรม และเศรษฐกิจชุมชน รวมไปถึงทรงมีบทบาทในด้านการส่งเสริมสิทธิสตรีภายในประเทศจอร์แดน
นอกจากมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศจอร์แดน ควีนราเนียยังทรงมีส่วนร่วมกับประเด็นในสังคมโลกมากมายไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยร่วมบริจาควัคซีน โควิด-19 เพื่อโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นการนำชัยชนะในการต่อสู้กับโรคโควิดมาสู่มนุษยชาติ และทรงเป็นคณะกรรมการรางวัล Earthshot Prize ซึ่งเจ้าชายวิลเลี่ยม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงอิทธิพลจากหลากหลายภาคส่วน ไม่เพียงเท่านี้สมเด็จพระราชินีแห่งจอร์แดนยังทรงเป็นแบบอย่างของสตรียุคใหม่ที่เพียบพร้อมด้วยพระสิริโฉมและพระปรีชา โดยพระองค์ได้รับการถวายราชสดุดีและรางวัลมากมาย และยังทรงนำโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารกับประชาชนด้วยพระองค์เองอีกด้วย

คามิลล่า ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์
นับตั้งแต่สำนักพระราชวังคลาเรนซ์เฮาส์ออกแถลงการณ์ว่า ‘เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งเวลส์’ จะทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับหญิงหม้ายที่มีลูกติดถึง 2 คนอย่าง ‘คามิลล่า ปาร์กเกอร์ โบลส์’ ในปี 2005 ชีวิตของดัชเชสคามิลล่าก็ได้รับการจับตามองจากชาวสหราชอาณาจักรและผู้ที่ติดตามข่าวสารราชวงศ์ทั่วโลกอยู่เสมอ แต่เนื่องจากสำนักพระราชวังมีการประกาศว่าหลังจากอภิเษกสมรสแล้ว คามิลล่าจะดำรงพระอิสริยยศเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ และหลังจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์จะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเพียงพระชายาเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาแม้ว่าดัชเชสคามิลล่าจะทรงงานและปฏิบัติกรณียกิจต่าง ๆ อยู่เสมอ แต่ไม่ได้มีน้ำหนักในใจต่อประชาชนมากนัก
ทว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีข้อความพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งระบุว่า “เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมที่โอรสของข้าพเจ้า ‘ชาร์ลส์’ จะขึ้นเป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้ารู้ว่าทุกคนจะให้การสนับสนุนพระองค์และพระชายา ‘คามิลล่า’ เฉกเช่นเดียวกับที่ทุกคนมีให้ข้าพเจ้ามาตลอด และข้าพเจ้าปรารถนาอย่างใจจริงว่าเมื่อถึงเวลานั้น คามิลล่าจะได้รับการยอมรับในฐานะ ‘สมเด็จพระราชินี’ (Queen Consort)” ทำให้ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์กลับมาได้รับความสนใจจากทั้งชาวสหราชอาณาจักรและคนทั่วโลกอย่างมาก ในฐานะทรงเป็น ‘ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร’
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ทรงปฏิบัติพระภารกิจต่าง ๆ เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนพระราชภารกิจพระสวามี หรือพระกรณียกิจส่วนพระองค์ซึ่งปัจจุบันทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรการกุศลต่าง ๆ มากกว่า 100 แห่ง ที่มีส่วนในขับเคลื่อนสังคมหลายประการ ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา การสร้างโอกาสให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน ผู้สูงอายุ ความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว การส่งเสริมศักยภาพสตรี และศิลปะ เป็นต้น

มกุฎราชกุมารีแมรี่แห่งเดนมาร์ก
จากหญิงสามัญชนนักการตลาดชาวออสเตรเลีย เจ้าหญิงแมรี่ทรงปรับพระองค์สู่การเป็นมกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์กได้อย่างเต็มภาคภูมิ หลังจากอภิเษกสมรสกับ ‘มกุฎราชกุมารเฟรเดอริก’ เจ้าหญิงแมรี่ทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยและพระวรกายในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อส่งเสริมให้ชาวเดนมาร์กรวมถึงคนทั่วโลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านการเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรการกุศลมากกว่า 30 แห่ง รวมถึงกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ, สำนักงานภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก และสภาผู้ลี้ภัยแห่งเดนมาร์ก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้ง ‘มูลนิธิแมรี่’ (Mary Foundation) ในปี 2007 โดยเงินทุนในการก่อตั้งมูลนิธิจำนวน 1.1 โครนเดนมาร์ก (ประมาณ 5.4 ล้านบาท) เป็นพระราชทรัพย์ที่เจ้าชายเฟรเดอริกและเจ้าหญิงแมรี่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในโอกาสอภิเษกสมรสในปี 2004 ซึ่งในปี 2014 มกุฎราชกุมารีแมรี่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Bambi Awards ของประเทศเยอรมันจากการดำเนินงานของมูลนิธิดังกล่าว และในเดือนตุลาคม 2019 มีการประกาศว่าทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์จัดงาน ‘WorldPride Copenhagen 2021’ ทำให้ทรงเป็น ‘ราชนิกุลพระองค์แรก’ ที่ทำหน้าที่เป็นองค์อุปถัมภ์งานสำคัญของ LGBT
ในปี 2019 สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ทรงแต่งตั้งเจ้าหญิงแมรี่เป็น ‘ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนในยามสมเด็จพระราชินีนาถหรือมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เดนมาร์กที่มีการแต่งตั้งผู้ที่ไม่ได้มีชาติกำเนิดเป็นเชื้อพระวงศ์ขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และในปี 2022 ในโอกาสมกุฎราชกุมารีแมรี่ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในเดนมาร์ก ได้ตั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ ตามพระนามของเจ้าหญิงแมรี่เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้มกุฎราชกุมารีแมรี่ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเก้น, โรงพยาบาลแมรี่ เอลิซาเบธ (Mary Elizabeth’s Hospital), สวนแมรี่ ออสเตรเลี่ยน การเด้น (Mary’s Australian Garden) ของสวนสัตว์โคเปนเฮเก้น เป็นต้น

แคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์
ปิดท้ายที่ ‘แคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์’ พระชายา ‘เจ้าชายวิลเลี่ยม ดยุคแห่งเคมบริดจ์’ ทรงได้รับความสนพระทัยอย่างมากจากสาธารณชนทั่วโลกตั้งแต่ยังทรงเป็นพระคู่หมั้นของเจ้าชายวิลเลี่ยม โดยพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลี่ยมและดัชเชสเคตในปี 2011 มีผู้ติดตามชมการถ่ายทอดสดมากถึงเกือบหนึ่งพันล้านคน และส่งผลให้ในปีนั้นพระมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดพิธีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากถึง 1.9 ล้านคน ดัชเชสเคตทรงมีภาพลักษณ์ของการเป็นราชนิกุลยุคใหม่ที่มีอิทธิพลให้กับผู้หญิงทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นความสนพระทัยด้านต่าง ๆ แฟชั่นฉลองพระองค์ ตลอดจนการเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดา จนมีการเรียกขานปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า ‘เคต เอฟเฟ็กต์’ (Kate Effect) และทรงได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลของโลก จากนิตยสารไทม์ (Time) ถึง 3 ปีซ้อน (2011, 2012 และ 2013)
ปัจจุบันนอกจากทรงคอยสนับสนุนพระราชภารกิจต่าง ๆ ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้กับองค์กรการกุศลและทหารมากกว่า 20 แห่ง โดยพระกรณียกิจส่วนใหญ่เน้นไปที่การแก้ปัญหา ส่งเสริม และสนับสนุนเด็ก เยาวชน สุขภาพจิต การติดยา กีฬา และศิลปะ ทรงร่วมกับเจ้าชายวิลเลี่ยมและเจ้าชายแฮร์รี่ก่อตั้ง ‘มูลนิธิหลวง’ (The Royal Foundation) ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อ ‘มูลนิธิหลวงในดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์’ (The Royal Foundation of The Duke and Duchess of Cambridge) เพื่อสนับสนุนการทรงงานในโครงการต่าง ๆ
แม้ว่าจะมีพระภารกิจมากมาย แต่ดัชเชสยังทรงให้ความสำคัญกับครอบครัวทั้งการเป็นพระชายาและพระมารดาของ เจ้าชายจอร์จ, เจ้าหญิงชาร์ล็อตต์ และ เจ้าชายหลุยส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากดัชเชสเคตให้เติบโตและเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกับที่ทรงสนับสนุนเด็กและเยาวชนในสหราชอาณาจักร และความน่ารักสมวัยของพระโอรสและพระธิดาทั้ง 3 พระองค์ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความใส่พระทัยในการเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาได้เป็นอย่างดี.