กลายเป็นโมเมนต์ที่ทำให้เหล่าแฟน ๆ ราชวงศ์ทั่วโลกยิ้มตามไม่น้อยเมื่อ สำนักพระราชวังนอร์เวย์ เผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 ที่ทรงฉายร่วมกับรถจักรยานยนต์ส่วนพระองค์คันแรกที่มีอายุกว่า 70 ปี ที่สำนักพระราชวังถวายเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระชนมายุ 86 พรรษา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา โดยผู้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นพระชายา สมเด็จพระราชินีซอนย่า แห่งนอร์เวย์

ในโซเชียลมีเดียทางการ สำนักพระราชวัง โพสต์ข้อความประกอบพระบรมฉายาลักษณ์ว่า “สมเด็จพระราชาธิบดีทรงได้รับของขวัญสุดพิเศษจากข้าราชบริพารและเจ้าหน้าที่ทุกคนในสำนักพระราชวัง โดยระหว่างการเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ “King’s Cars” ในเดือนมีนาคม 2022 สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ มีรับสั่งถามถึงรถจักรยานยนต์คันแรกของพระองค์ว่ามีใครพอจะทราบบ้างว่าถูกเก็บไว้ที่ใด”
“ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1953 ขณะสมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระชนมายุครบ 16 พรรษา ทรงได้รับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ฮุสวาน่า (Husqvarna) รุ่น 30 Sport เป็นของขวัญพระราชทานจากพระราชบิดา (สมเด็จพระราชาธิบดีโอลาฟที่ 5) ซึ่งขณะนั้นยังทรงมีพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารโอลาฟ สมเด็จพระราชาธิบดีทรงใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวหลังจากได้รับการจดทะเบียน Light Motorcycle ในอีกราว 7 เดือนต่อมา จวบจนทรงได้รับใบขับขี่รถยนต์ในปี 1955 ก่อนมีพระบรมราชานุญาตให้ขายทอดตลาดในภายหลัง นับเป็นเวลากว่า 70 ปีตั้งแต่พระองค์ได้รับรถจักรยานยนต์เป็นของขวัญวันคล้ายวันพระราชสมภพ 16 พรรษา ขณะนี้ทรงได้รับรถจักรยานยนต์คันแรกกลับคืน โดยมีการซ่อมแซมบูรณะพร้อมติดหมายเลขทะเบียนรถเดิม และถูกส่งไปยังสำนักงานในสมเด็จพระราชาธิบดี”

หลังสำนักพระราชวังเผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชาธิบดี แฟน ๆ ราชวงศ์ทั่วโลกจำนวนมากต่างพร้อมใจกันแสดงความคิดเห็น ถวายพระพรขอให้พระองค์ทรงเกษมสำราญในวันคล้ายวันพระราชสมภพกับของขวัญชิ้นพิเศษในปีนี้
สำหรับ ฮุสวาน่า เป็นแบรนด์อุปกรณ์เครื่องกลจากประเทศสวีเดนที่มีความเก่าแก่มากกว่า 330 ปี แรกเริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 1689 เพื่อผลิตอาวุธ ตลอดจนจักรเย็บผ้า และอุปกรณ์สำหรับใช้ในครัวเรือน กระทั่งมีการผลิตรถจักรยานยนต์คันแรกในปี ค.ศ. 1903 นับเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์กว่า 110 ปีของแบรนด์ ‘ฮุสวาน่า มอเตอร์ไซเคิล’ โดยรถจักรยานยนต์รุ่น 30 Sport 120 cc เป็นรุ่นที่ถูกผลิตขึ้นในปี ค.ศ. 1953 ส่วนปัจจุบันนอกจากผลิตรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ และมอเตอร์ครอส ยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องกลจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก

พระราชประวัติ สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1937 เมื่อแรกประสูติทรงมีพระยศเป็น ‘เจ้าชายฮารัลด์’ พระโอรสเพียงพระองค์เดียวของ มกุฎราชกุมารโอลาฟ และมกุฎราชกุมารีมาธาร์ ทรงมีพระเชษฐภคินี (พี่สาว) 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงรังน์ฮิลด์ (สิ้นพระชนม์) และเจ้าหญิงอัสตริด พระองค์เป็นเจ้าชายพระองค์แรกในรอบ 567 ที่ประสูติในประเทศนอร์เวย์
ด้วยสถานการณ์ถูกประเยอรมันรุกรานในสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชวงศ์นอย์เวย์จึงต้องลี้ภัยในต่างประเทศชั่วคราว เจ้าชายฮารัลด์ในช่วงเยาว์พระชันษาประทับอยู่ที่ประเทศสวีเดนและสหรัฐอมเริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 ก่อนเสด็จนิวัตินอร์เวย์ในปี ค.ศ. 1945 ต่อมาทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารในปี ค.ศ. 1957 ทรงศึกษาสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยด้านประวัติศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และการปกครอง จาก Balliol College มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เมื่อปี ค.ศ. 1962 ต่อมาในปี ค.ศ. 1968 ได้อภิเษกสมรสกับซอนย่า ฮารัลด์เซน หลังจากทรงคบหากันนานกว่า 9 ปี ทรงมีพระธิดาและพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงมาร์ธา หลุยส์ และ เจ้าชายฮากอน แม็กนัส (มกุฎราชกุมารในปัจจุบัน)
มกุฎราชกุมารฮารัลด์ เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากรพระราชบิดาในปี ค.ศ. 1991 โดยตลอดระยะเกือบ 3 ทศวรรษในฐานะ ‘สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์’ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนอร์เวย์ในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทรงโปรดกิจกรรมกีฬาและมีพระราชกรณียกิจส่งเสริมกีฬาจำนวนมาก ทรงชนะรางวัลเหรียณทองแดง, เหรียญเงิน และเหรียญทอง ในการแข่งขันเรือใบระดับเวิล์ด แชมเปียนชิพส์ 1988, 1982 และ 1987 ตามลำดับ และยังมีส่วนสำคัญในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่นอร์เวย์เมื่อปี ค.ศ. 1994 ในปี ค.ศ. 2016 ขณะพระชนมายุ 73 พรรษา ทรงร่วมการแข่งขันกับทีมเรือใบในการแข่งขันเรือใบชิงแชมป์โลกที่ทะเลสาบออนแทรีโอ เมืองโตรอนโต และทรงเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสองในประเภทเรือคลาสสิก ทำให้ทรงได้รับสมญาจากสื่อว่า “Sailor-King”
สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่มีแฟน ๆ ราชวงศ์ทั่วโลกชื่นชอบ และติดตามข่าวสารอยู่จำนวนไม่น้อย ในปี ค.ศ. 2021 ขณะมีพระชนมายุ 83 พรรษา ทรงร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของรัฐสภานอร์เวย์ และมีพระราชอารมณ์ขันระหว่างพระราชทานพระราชดำรัสใจความว่า สถานการณ์โควิดทำให้พระองค์ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอันสมัยที่ทำให้ผู้คนยังติดต่อถึงกันได้ ซึ่งนั่นทำให้ครอบครัวของพระองค์มีความสุขมากกับการที่พระองค์มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเองสักที หลังจากผ่านมา 40 ปีเท่านั้นเอง.
Courtesy Photo of Norway Royal Court