ด้วยทรงเห็นความสำคัญของพลังมนุษยชาติในการปกป้องและซ่อมแซมสิ่งแวดล้อม ‘เจ้าชายวิลเลี่ยม ดยุคแห่งเคมบริดจ์’ ทรงก่อตั้งรางวัล ‘เอิร์ธช็อต ไพรซ์’ (Earth Prize) เพื่อมอบรางวัลอันทรงเกียรติให้แก่บุคคล หน่วยงาน องค์กร และนวัตกรรมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและซ่อมแซมสภาพแวดล้อมโลกในอีก 10 ข้างหน้า

ในการนี้ ‘เจ้าชายวิลเลี่ยมและแคเธอรีน ดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์’ เสด็จไปในการประกาศรางวัล ‘เอิร์ธช็อต ไพรซ์ 2021’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อค่ำคืนวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ พระราชวังอเล็กซานดร้า กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมีเหล่าพรีเซ็นเตอร์จากหลากหลายวงการร่วมเดินพรมเขียวเปิดงาน อาทิ ‘เอ็มม่า วัตสัน’ นักแสดงชื่อดัง

สำหรับผลรางวัลเอิร์ธช็อต ไพรซ์ในปีแรก แบ่งออกเป็น 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ ได้แก่ ‘สาธารณรัฐคอสตาริกา’ จากการริเริ่มโครงการจ่ายเงินให้แก่พลเมืองเพื่อปกป้องป่าไม้ ปลูกต้นไม้ และฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งจากความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างประชาชนและภาครัฐ ทำให้พื้นที่ป่าของคอสตาริกาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า พืชและสัตว์ต่างๆ เจริญเติบโต ซึ่งนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สาขาขจัดมลภาวะทางอากาศ ได้แก่ ‘TAKACHAR’ ประเทศอินเดีย เทคโนโลยีที่พัฒนาโดย ‘วิยุทธ โมหัน’ (Vidyut Mohan) ชาวอินเดียผู้คิดค้นเครื่องแปลงขยะทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สามารถขายได้ เช่น เชื้อเพลิงและปุ๋ย ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสามารถยึดติดกับรถแทรกเตอร์ในฟาร์มแถบชนบท สามารถลดการปล่อยควันจากการเผาทำลายพืชผลทางการเกษตรได้มากถึง 98 เปอร์เซ็นต์
สาขาฟื้นฟูท้องทะเล ได้แก่ ‘คอรัล วิต้า’ (Coral Vita) ฟาร์มปะการังของ ‘แซม ทีเชอร์’ (Sam Teicher) และ ‘เกเตอร์ ฮัลเพิร์น’ (Gator Halpern) จากประเทศบาฮามาส ซึ่งวิธีการทำฟาร์มปะการังของคอรัล วิต้าที่มีการเพาะพันธุ์ปะการังบนบก ก่อนนำไปปลูกในมาหสมุทร ทำให้ปะการังเติบโตรวดเร็วมากกว่าวิธีการแบบเดิมถึง 50 เท่า และทำให้ปะการังมีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

สาขาสร้างโลกไร้ขยะ ได้แก่ นโยบาย ‘ฟู้ด เวสต์ ฮับส์’ (Food Waste Hubs) ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมืองแรกในโลกที่มีการบังคับใช้นโยบาย ‘ฟู้ด เวสต์ ฮับส์’ ซึ่งรวบรวมอาหารเหลือทิ้งทั่วทั้งเมืองมอบให้แก่องค์กรการกุศล เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้ แก้ทั้งปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความไม่มั่นคงด้านอาหาร โดยมีลายมีศูนย์ ฟู้ด เวสต์ ฮับส์ ทั้งสิ้น 3 แห่ง แต่ละแห่งสามารถรวบรวมอาหารเหลือทิ้งได้มากถึง 130 ตันต่อปี หรือ 350 กิโลกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับอาหารประมาณ 260,000 มื้อ
และสาขาแก้ไขวิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ได้แก่ นวัตกรรม ‘เออีเอ็ม อิเลกโทรไลเซอร์’ (AEM Electrolyser) จากเอ็นแนปเตอร์ (Enapter) ซึ่ง ‘ไวเทีย เคาแวน’ (Vaitea Cowan) ร่วมก่อตั้งขึ้น โดยนวัตกรรมเออีเอ็ม อิเลกโทรไลเซอร์เป็นการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนที่ปราศจากมลพิษ เทคโนโลยีนี้พัฒนาได้เร็วและมีราคาถูกกว่าที่คาดการณ์ ทำให้ถูกนำมาใช้ในการเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์และเครื่องบิน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และเตาผิงในบ้าน

สำหรับผู้ชนะรางวัลจะได้รับเงินรางวัลสนับสนุนการดำเนินงานเป็นจำนวน 1 ล้านปอนด์ พร้อมเหรียญรางวัลที่ออกแบบโดย ‘คริสตีน มีนเดิร์ตสมา’ (Christien Meindertsma) ศิลปินชาวดัตช์ที่นะภาพถ่ายโลก จากภารกิจอะพอลโล 8 ในปี ค.ศ. 1968 มาเป็นแรงบันดาลใจ ขณะที่ตัวเหรียญสร้างขึ้นจากวัสดุรีไซเคิล

ภายในงาน เจ้าชายวิลเลี่ยม ทรงมีพระดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า “เยาวชนทุกคนที่ดูการประกาศรางวัลในคืนนี้เราอยากบอกกับพวกคุณว่า เราไม่ได้ทำอะไรเพื่อปกป้องโลกสำหรับอนาคตของคุณมานานเกินไปแล้ว แต่เอิร์ธช็อตเกิดขึ้นเพื่อคุณ ในอีกสิบปีข้างหน้าเราจะดำเนินการ เราจะหาทางแก้ไขเพื่อซ่อมโลกของเรา”

ทั้งนี้ ก่อนหน้าวันประกาศรางวัล พระราชวังบัคกิงแฮมยังได้เปลี่ยนแสงบริเวณโดยรอบให้เป็นสีเขียวในยามค่ำคืนเป็นครั้งแรก เพื่อเฉลิมฉลองการประกาศรางวัลเอิร์ธช็อต ไพรซ์ ครั้งแรกด้วย.
ภาพจากทวิตเตอร์ EarthshotPrize