Home > Watches & Jewellery > Jewellery > มรดกจิวเวลรี่ชิ้นใดบ้างที่ ‘เคท’ ใส่เป็นครั้งแรก หลังเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งเวลส์’

ภายหลังจากรับพระอิสริยยศใหม่เป็น ‘เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ ดูเหมือนว่าทุกครั้งที่ แคเธอรีน ทรงปรากฏพระองค์ในการปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ ยิ่งได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้น โดยเฉพาะฉลองพระองค์ และเครื่องประดับต่าง ๆ ที่ทำให้ทรงพระสิริโฉมดงามโดดเด่นไปทุกกระเบียดนิ้ว หนึ่งในรายละเอียดที่ถูกจับตามองทั้งจากประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้ที่หลงใหล และนักสะสมทั่วโลกคือบรรดา จิวเวลรี่ สุดเลอค่าที่ทรงสวมใส่ ทว่ามีมรดกจิวเวลรี่ชิ้นใดบ้างที่ เคท ทรงเลือกหยิบมาสวมใส่เป็นครั้งแรก

จิวเวลรี่ เคท

เข็มกลัดขนนกเจ้าหญิงแห่งเวลส์ Princess of Wales Feather Brooch

ในการเสด็จไปทรงร่วมพิธีต้อนรับ ‘ไซริล รามาโฟซา’ ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ณ Horse Guards Parade กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2022 กับ ‘เจ้าชายวิลเลี่ยม’ ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนระดับรัฐครั้งแรกในรัชสมัย ‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ แคเธอรีน เจ้าหญิงเวลส์ ทรงประดับ เข็มกลัดขนนกเจ้าหญิงแห่งเวลส์ หรือ Princess of Wales Feather Brooch เป็นครั้งแรก

จิวเวลรี่ชิ้นสำคัญที่ตกทอดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863 เมื่อครั้ง ‘สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดร้า’ อภิเษกสมรสกับ ‘สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7’ ขณะยังเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ ตัวเรือนเป็นรูปขนนก 3 เส้น อันเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์เจ้าชายแห่งเวลส์ ประดับด้วยเพชร มรกต และทัมทิม

เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในอดีตมักประดับเข็มกลัดดังกล่าวในหลายโอกาส อาทิ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ ที่ได้รับพระราชทานเข็มกลัดจาก ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ ทรงเลือกนำเข็มกลัดมาสวมเป็นจี้หลายครั้ง รวมทั้งการเสด็จเยือนออสเตรียในปี 1986 เช่นเดียวกับ ‘สมเด็จพระราชินีคามิลล่า’ ที่ครอบครองเข็มกลัดหลังจากอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ครั้งเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ และประดับเข็มกลัดเป็นครั้งแรกในปี 2006

จิวเวลรี่ เคท

สร้อยพระศอโชเกอร์มรกตประดับเพชร Queen Mary’s Emerald Choker

จิวเวลรี่ อีกชิ้นที่ ‘เคท’ ทรงใส่เป็นครั้งแรกคือ สร้อยพระศอโชเกอร์มรกตประดับเพชร หรือ Queen Mary’s Emerald Choker สุดโดดเด่น ที่ถูกหยิบยืมมาจากคลังสมบัติของพระราชวงบัคกิงแฮม หนึ่งในชุดเครื่องเพชรเดลี ดูร์บาร์ (Delhi Durbar Parure) อันโด่งดังที่ ‘สมเด็จพระราชินีแมรี่’ ทรงรวบรวมไว้ ขณะเสด็จทรงร่วมงานเดลี ดูร์บาร์ ณ จักรวรรดิอินเดีย ในปี 1911 แต่เดิมมีชื่อว่า Ladies of India เนื่องจากเป็นเครื่องเพชรที่ถวายโดยมหารานีแห่งพาเทีย กรรมการจัดงานเดลี ดูร์บาร์ ในวาระดังกล่าว ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น Ladies of India

จิวเวลรี่ เคท
สมเด็จพระราชินีแมรี่/ ©Royal Collection Trust

นอกจากชื่อ รูปลักษณ์ของ Ladies of India ก็ถูกปรับเปลี่ยนจากเดิมเช่นกัน โดยราว 10 ปีให้หลัง สมเด็จพระราชินีแมรี่โปรดให้ช่างฝีมืออัญมณีอย่าง Garrard ปรับเปลี่ยน Ladies of India จากสร้อยพระศอปกติ ให้เป็นสร้อยโชเกอร์สไตล์อาร์ตเดโค โดยประดับมรกตและเพชรจากของเดิมบนตัวเรือนใหม่ที่ทำจากทองคำขาว ตามที่ปรากฏในปัจจุบัน

หลังจากสมเด็จพระราชินีแมรี่สิ้นพระชนม์ในปี 1953 สร้อย Queen Mary’s Emerald Choker ตกเป็นทรัพย์สินใน ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ ซึ่งตลอดรัชสมัยไม่เคยมีพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงสร้อยดังกล่าวปรากฏ ทว่าเคยพระราชทานให้ ‘ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ ยืมสวมใส่ในหลายโอกาส อาทิ ทรงเป็นที่คาดพระเกศาขณะเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียในปี 1985, สวมใส่เป็นสร้อยพระศอโชเกอร์ปกติในงานเลี้ยงพระราชทานต้อนรับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในปี 1989 และปรากฏครั้งสุดท้ายในการสวมใส่ไปทรงร่วมงานกาล่าดินเนอร์ฉลองครบรอบศตวรรษ Tate Gallery ในลอนดอน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ราวเดือนเดียวก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์

ต่อมา สร้อยพระศอ Queen Mary’s Emerald Choker กลับคืนสู่พระคลังหลวง และเคยถูกนำไปจัดแสดงนิทรรศการภายใต้การดูแลของ The Royal Collection กระทั่งถูกสวมใส่โดยราชวงศ์อีกครั้งโดย แคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในการเสด็จไปทรงร่วมงานประกาศรางวัล Earthshot Prize Award 2022 ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2022

Courtesy Photo of Kensington Royal Twitter/Royal Collection Trust/Pinterest

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.