เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมาปีพ.ศ.2562 เราได้เห็นการเปลี่ยนรัชกาลในประเทศญี่ปุ่น จุดสิ้นสุดของยุคเฮเซ เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะได้สละราชบัลลังก์ในวันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยพระองค์เป็นนับเป็นจักรพรรดิองค์แรกในรอบกว่า 2 ศตวรรษที่สละราชบัลลังก์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของยุคเรวะ พระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ ของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เมื่อวันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งได้มีการเตรียมพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นสืบราชบัลลังก์ของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ (Enthronement Ceremony) ที่จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 22 ตุลาคมนี้ เวลาประมาณ 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ท้องพระโรงมัตซึโนมะ หรือท้องพระโรงใหญ่ พระราชวังหลวง กรุงโตเกียถ
โดย HELLO! Thailand จึงได้รวบรวมเป็นวีดีโอสุดประทับใจกับพระราชพิธีอันแสนเรียบง่ายแต่มีความหมาย คลิกชมด้านล่างได้เลย
นับเป็นพระราชพิธีที่ทั่วโลกจับตามองกับ ‘พระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น’ และเป็นการสิ้นสุดรัชสมัยเฮเซ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงสละราชสมบัติ กษัตริย์ผู้มีพระชนมพรรษา 85 พรรษา ทรงเป็นพระมหากษัติรย์พระองค์แรกที่ทรงสละราชสมบัติในรอบ 200 ปี โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1817 พระราชพิธีมีสมาชิกราชวงศ์พร้อมหน้า หนึ่งบุคคลสำคัญคือพระราชชายา สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ซึ่งทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงอยู่เคียงข้างพระราชสวามีในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ในพระราชวังอิมพีเรียลด้วย

การประกาศสละราชสมบัตินี้เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว หลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิทรงประกาศสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ พระองค์มีพระราชดำรัสว่าพระองค์มิสามารถทำหน้าที่ได้สำเร็จ เนื่องจากอายุเพิ่มขึ้นและสุขภาพที่อ่อนแอลง โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงประกอบพระราชพิธีสละราชสมบัติที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายตามแบบโบราณราชประเพณี ณ คาชิโคะ โดะโคะโระ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ในพระราชวังอิมพีเรียล เพื่อถวายราชสักการะแก่เทพเจ้าอามาเทระซึ ในฉลองพระองค์กิโมโนแบบโบราณซึ่งมีไว้สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิเท่านั้น และทรงถือ ‘ชาคุ’ (คทา) แผ่นไม้เรียบ ด้านหลังมีข้าราชบริพารถือเครื่องราชกกุภัณฑ์ ตามมา

หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์สูทเพื่อมีพระราชดำรัสต่อหน้าแขกกว่า 300 คน ณ ห้อง Matsu No Ma “ข้าพเจ้าขอขอบคุณอย่างใจจริงต่อประชาชนที่ให้การยอมรับและสนับสนุนการทำหน้าที่ในฐานะสัญลักษณ์ของรัฐมาโดยตลอด” สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชดำรัส “ข้าพเจ้าและสมเด็จพระจักรพรรดินีหวังว่า รัชสมัยเรวะที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันพรุ่งนี้ จะมีเสถียรภาพมั่นคงและประสบผลสำเร็จ”
รัชสมัยของประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันคือ เรวะ โดยมีมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ทรงประกอบพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ (Kenji-to-Shokei-no-gi) สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ของญี่ปุ่น รัชศกเรวะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019ปีนี้ ในการประกอบพระราชพิธีใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น มหาดเล็กอาวุโสเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันประกอบไปด้วยของศักดิ์สิทธิ์ 3 อย่าง คือ กระจก ดาบ และอัญมณี แก่สมเด็จพระจักรพรรดิ พระชนมพรรษา 59 พรรษา ที่ห้องโถงใหญ่ ในพระราชวังอิมพีเรียล ซึ่งภายในห้องนั้นมีแต่สมาชิกราชวงศ์และข้าราชบริพารระดับสูงผู้ชายเท่านั้น ได้แก่ มกุฎราชกุมารฟุมิฮิโตะ และเจ้าชายฮิตาชิ พระอนุชาในอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เป็นต้น แต่ก็เป็นข้อยกเว้นสำหรับพระราชพิธีในคราวนี้ เมื่อหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่เข้าร่วมมีผู้หญิงด้วยหนึ่งคน

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะเสด็จฯ ออก ณ ท้องพระโรง โดยมีพระปฐมพระราชโองการ “ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตนตามกรอบรัฐธรรมนูญ และจะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐและศูนย์รวมใจของชาวญี่ปุ่นให้สมบูรณ์”
ในวันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2562 สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ยุคสมัยใหม่ ‘เรวะ’ ของญี่ปุ่นจะประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะขึ้นครองบัลลังก์ ในพระราชพิธีราชาภิเษกที่จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยบุคคลสำคัญจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกจะเข้าร่วมในพระราชพิธีฯ หนึ่งสัปดาห์กว่าๆหลังจากที่พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสเข้าพัดเกาะญี่ปุ่น

โดยสื่อญี่ปุ่นหลายสำนัก คาดว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงฉลองพระองค์ด้วย กิโมโนหลวง (Royal Kimono) ที่สมาชิกในราชวงศ์ญี่ปุ่นสวมใส่ ซึ่งอาจไม่ค่อยพบเห็นนอกจากพิธีทางการและพิธีแต่งงานของสมาชิกราชวงศ์แบบเป็นส่วนตัวเท่านั้น โดยจะมีลวดลาย ‘นก’ ซึ่งชาวญี่ปุ่นถือเป็นทูตสวรรค์ตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะลวดลายนกฟินิกซ์ หรือนกไฟอมตะ หรือ โฮโอ ตามภาษาญี่ปุ่น มีความหมายถึง “สันติภาพ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์“ ส่วนสีจะเป็นสีน้ำตาลทองเป็นสีของกิโมโนที่สมเด็จพระจักรพรรดิเท่านั้นทรงสวมได้ เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นสีที่จักรพรรดิสวมใส่เท่านั้น และจะประกาศการขึ้นครองบัลลังก์หรือบัลลังก์ที่มีชื่อว่า “ทาคะมิคุระ” (Takamikura)
สำหรับ สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ อดีตสามัญชนนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดที่ตัดเย็บอย่างประณีต ที่รู้จักกันในชื่อ “จูนิฮิโตเอะ” (Junihitoe) หรือเสื้อคลุมกิโมโนหลายชั้นและอยู่เคียงข้างจักรพรรดิบนบัลลังก์ที่ประทับรองลงมา แม้จูนิฮิโตเอะ จะแปลว่า 12 ชั้น แต่ในความเป็นจริง ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีต้องทรงฉลองพระองค์กี่ชั้น ยกตัวอย่าง สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะทรงฉลองพระองค์ 9 ชั้น ในพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระสวามี ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ

หลังจากนั้น พิธีจะดำเนินการต่อหน้าดาบและอัญมณีโบราณซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของจักรวรรดิที่กล่าวว่าได้รับการส่งมอบโดยเทพธิดาและถือเป็นหลักฐานสำคัญของความชอบธรรมของจักรพรรดิ หลังจากเสร็จสิ้นนายกรัฐมนตรีชินโซอะเบะจะขึ้นไปตีกลองก่อนจะส่งเสียง “จักรพรรดิทรงพระเจริญ” สามครั้งเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จสิ้น
ในงานนี้คาดว่าจะมีแขกสำคัญกว่า 2,500 คน ทั้งบุคคลสำคัญต่างประเทศและราชวงศ์จากเกือบ 200 ประเทศ ซึ่งรวมถึงเจ้าชายชาร์ลส์ของสหราชอาณาจักรไปจนถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากประเทศไทย ในการเฉลิมฉลองครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มีการพิจารณาการออกประกาศอภัยโทษนักโทษคดีลหุโทษจำนวน 600,000 คน เนื่องในวันเฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ โดยผู้ได้รับการอภัยโทษกลุ่มนี้ จะได้รับการยกเลิกการถูกจำกัดสิทธิทางกฎหมายเป็นเวลา 5 ปี
ในขณะที่พระราชพิธีริ้วกระบวนรถยนต์พระที่นั่งถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน จะมีการจัดงานเลี้ยงสำหรับบุคคลสำคัญต่างชาติและตัวแทนของรัฐบาลท้องถิ่นจะดำเนินการต่อไปพร้อมกับงานเลี้ยงน้ำชาที่บ้านพักในวันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2562 ที่จะถึงนี้
สำหรับลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่นในปัจจุบันใช้กฎราชวงศ์ฉบับปี1947 ซึ่งอนุญาตให้รัชทายาทชายเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ และหากสมาชิกราชวงศ์หญิงแต่งงานกับสามัญชนจะต้องสละฐานันดรศักดิ์ออกจากราชวงศ์ ซึ่งหมายความว่าราชวงศ์ญี่ปุ่นเหลือรัชทายาทที่สามารถสืบราชบัลลังก์อยู่เพียงสองพระองค์เท่านั้นคือ เจ้าชายฟูมิฮิโตะ พระอนุชา มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นปัจจุบัน ส่วนรัชทายาทอันดับสองคือเจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ วัย 12 ชันษา พระโอรสในเจ้าชายฟูมิฮิโตะ ส่วนอีกพระองค์คือ เจ้าชายมาซาฮิโตะ เจ้าฮิตาชิ วัย 83 พรรษา พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะนั้นทรงไม่มีพระทายาท อย่างไรก็ดีสำนักข่าวเกียวโดรายงานผลสำรวจของสาธารณชนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นหลังสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะสละราชสมบัติ และจากที่สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะทรงเข้าพิธีขึ้นครองราชย์เมื่อวันพุธที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ โดยผลสำรวจจากวิธีการสุ่มสำรวจชาวญี่ปุ่นจำนวน 743 ครอบครัว และสอบถามทางโทรศัพท์จำนวน 1,238 คนพบว่า ร้อยละ 79.6% สนับสนุนให้ราชวงศ์ญี่ปุ่นโดยรัฐบาลแก้ไขการสืบราชสันตติวงศ์โดยเปิดทางให้พระรัชทายาทหญิงมีสิทธิ์ขึ้นครองบัลลังก์ในอนาคตเช่นเดียวกับรัชทายาทชาย และอีก 13.3% ไม่สนับสนุน