นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวไทยทั้งประเทศ เมื่อฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560

ในฐานะที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้บันทึกลงบนแผ่นฟิล์มโดยใช้กระจกเป็นตัวบันทึกภาพก่อนที่จะมีการใช้แผ่นฟิล์มเซลลูลอยด์ ประกอบด้วยฟิล์มกระจกที่ได้ถ่ายทำในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ทว่าเป็นการบันทึกภาพบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ต่างๆ ในยุคนั้น ผ่านมุมมองของผู้ถ่ายภาพ สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และเหตุการณ์สำคัญในอดีต

และด้วยโอกาสอันดีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกับ มูลนิธิสิริวัฒนภักดีและบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” Celebrating the National Glass Plate Negative Registered as UNESCO Memory of the World ขึ้น ที่มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องอเนกประสงค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน

การนี้คุณใหม่ – สิริกิติยา เจนเซน เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการด้วย โดยสวมชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 5 งดงามเข้ากับบรรยากาศย้อนยุคสู่ประวัติศาสตร์ พร้อมนำภาพถ่ายที่เคยบันทึกไว้เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนรัฐฉาน สหภาพพม่า มาร่วมโชว์ผ่านกิจกรรมการอวดภาพภายในงานนี้ ให้ประชาชนได้ชมกันอย่างใกล้ชิด
สำหรับนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ในครั้งนี้ ได้คัดเลือกภาพจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณมานำเสนอ โดยแบ่งออกเป็น 8 หัวเรื่อง ดังนี้
1.มองเมืองไทยผ่านฟิล์มกระจกมรดกความทรงจำ นำเสนอการถ่ายภาพตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา
2.สัญลักษณ์ยืนยงดำรงไทยนำเสนอภาพสัญลักษณ์ของชาติไทย ได้แก่ ช้างในบริบทต่างๆ เช่น พิธีคล้องช้าง ขบวนช้างพระที่นั่ง ขบวนช้างในพระราชพิธี และการใช้ช้างเพื่อลากซุง ภาพศาลาไทย เช่น พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ในพระราชวังบางปะอิน และศาลาไทย ณ เมืองฮัมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ฯลฯ

3.เลิศล้ำอำไพพระราชพิธีนำเสนอภาพที่เกี่ยวกับพระราชพิธี พิธี และเหตุการณ์สำคัญ อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ งานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
4.พัฒนวิถีสู่ความศิวิไลซ์นำเสนอภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งด้านการคมนาคม เช่น รถไฟ รถราง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ถนนหนทาง สะพาน เรือเดินทะเล การสื่อสาร เช่น ไปรษณีย์โทรเลข ความเจริญก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้ได้พัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นตราบถึงปัจจุบัน
5.ศิลปวัฒนธรรมไทยงดงามประเพณีนำเสนอภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่พักอาศัย การเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำของชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ การประกอบอาชีพ เช่น การค้าขายของชำ การขายสินค้าจากต่างประเทศ เครื่องอุปโภคบริโภค ผลไม้ สมุนไพรจีน และการจับสัตว์น้ำ การแต่งกายของบุรุษและสตรีไทย ทรงผม การกรองมาลัย การจัดดอกไม้ การแข่งกีฬาฟุตบอล การแสดงนาฏศิลป์ ฯลฯ

6.สถลวิถีอาคารตระการตานำเสนอภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณสถาน วัด วัง อาคาร สถานที่สถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย และสถานที่อื่นๆ เช่น บริษัท อีสต์ เอเชียติก หอพระสมุดส่วนพระองค์ สถานทูตอังกฤษ เป็นต้น
7.ลือชาบุคคลในประวัติศาสตร์นำเสนอภาพบุคคลสำคัญที่มีบทบาทต่อการเมืองการปกครองและสังคม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งภาพพระมหากษัตริย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ และพระสงฆ์

8.พระบรมนาถเจริญทางพระราชไมตรีนำเสนอภาพการเสด็จประพาสต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ภาพคราวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2440 และครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2450 ภาพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ประพาสสิงคโปร์ และภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสอินโดจีน พุทธศักราช 2473 เป็นต้น ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรมเติมเต็มข้อมูลประวัติศาสตร์ที่หายไป เนื่องจากภาพถ่ายในชุดนี้ มีหลายภาพที่ไม่สามารถระบุรายละเอียดของภาพได้ จึงขอเชิญผู้สนใจในประวัติศาสตร์ นักสะสมผู้นิยมภาพเก่า มาร่วมกันวิเคราะห์และให้ข้อมูลของภาพถ่ายเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น กิจกรรมการอวดภาพจากนักสะสมและบุคคลที่มีชื่อเสียง การเสวนาในหัวข้อต่างๆ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ เรื่อง “เทคโนโลยี การอนุรักษ์ และการบริการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก” เรื่อง “พระมหากษัตริย์ไทยกับการถ่ายภาพ”

รวมไปถึงการสาธิตการถ่ายภาพและผลิตภาพจากฟิล์มกระจกแบบเปียก การรับมอบภาพถ่ายหรือฟิล์มถ่ายภาพเพื่อเก็บรักษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ณ สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ การจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก การถ่ายภาพย้อนยุค
ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม –28 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 – 19.00 น. วันพุธถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.thaiglassnegative.com