Home > Royalty > อัญเชิญพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคาร งดงามสมพระเกียรติสูงสุด

เช้าวันที่ 27 ตุลาคม วันที่หัวใจพสกนิกรชาวไทยต่างยังคงโศกเศร้าหลังจากพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดคืนที่ผ่านมาได้ผ่านพ้นไป โดยในเช้าวันนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ไปในการพระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

เมื่อเวลา 08.43 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เทียบรถยนต์พระที่นั่งหลังพระที่นั่งทรงธรรม ถนนหน้าพระธาตุ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินไปยังพระเมรุมาศ พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ โดยมี 8 ตํารวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นําเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ตามเสด็จ ประทับพระราชอาสน์ข้างพระจิตกาธาน เจ้าพนักงานถวายเปิดผ้าเยียรบับทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิแล้วถวายน้ำพระสุคนธ์สรงพระบรมอัฐิ เจ้าพนักงานถวายปิดผ้าเยียรบับคลุมพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสําหรับพระบรมอัฐิบูชาพระสงฆ์แล้วทรงทอดผ้าไตร 3 หาบ บนผ้าเยียรบับที่ปิดคลุมพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ 9 รูป ขึ้นสดับปกรณ์ที่พระจิตกาธานครั้งละ 1 รูป จนครบ 9 รูป เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายเปิดผ้าเยียรบับคลุมพระบรมอัฐิ ทรงเก็บพระบรมอัฐิสรงพระสุคนธ์ในขันทองคําแล้วประมวลลงในพระโกศทองคําลงยาประดับเพชร รวม 6 พระโกศ

พระโกศพระบรมอัฐิจัดทำไว้มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ พระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะนำไปประดิษฐานบนพระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริโสภาพรรณวดี รวมถึงพระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

สำหรับพระโกศทรงพระบรมอัฐิจะนำไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นครั้งแรกที่สร้างพระโกศทองคำลงยาทรง 9 เหลี่ยม ประดับเพชรเจียระไนสีขาว รวมทั้งสิ้น 5,368 เม็ด ฝาพระโกศเป็นทรงมกุฎเกี้ยวมาลัยทอง ส่วนยอดเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์และเศวตฉัตรคือนพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น เครื่องประดับพระโกศได้แก่ ดอกไม้เอว ดอกไม้ไหว เฟื่องอุบะ และดอกไม้ที่ทำจากเงินบริสุทธิ์ ประดับรัตนชาติ ส่วนยาสีที่ใช้ได้แก่สีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำพระชนมวาร สีแดงคือสีแห่งพลังความเข้มแข็งและการหล่อหลอมดวงใจของคนในชาติและสีเขียวแทนความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของประเทศด้วยพระเมตตาบารมีของพระองค์ออกแบบโดย นายอำพล สัมมาวุฒิธิ นักวิชาการช่างศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

พระบรมโกศทรงพระบรมอัฐิ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริโสภาพรรณวดี เป็นพระโกศทองคำลงยาประดับพลอยทรงแปดเหลี่ยมปากผาย ส่วนฝาพระโกศนั้นเป็นยอดมหามงกุฎแปดเหลี่ยมเช่นกัน ออกแบบโดย นายณัฐพงษ์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

และพระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระโกศทองคำลงยาประดับพลอยแปดเหลี่ยม ออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ใช้แนวคิดเกี่ยวกับพระโกศจันทน์ก็คือพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนสีจะลงยาสีขาวเหลืองสีพระประจำพระชนมวาร สีเขียวเป็นสีของเดชพระบรมรัตนราชสมภพ สีชมพูก็คือความเป็นมงคลและสีน้ำเงินคือสีของน้ำและพระมหากษัตริย์

สำหรับการเก็บพระบรมอัฐิจะเลือกเก็บแต่ละส่วนของพระสรีระเพียงเล็กน้อย พร้อมกันนั้นจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตขึ้นรับพระราชทานพระบรมอัฐิไปสักการะบูชา การออกแบบพระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่นำไปประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ออกแบบเป็นพระโกศเก้าเหลี่ยมตลอดทั้งองค์ ยกเว้นส่วนยอดที่จะเป็นก้านพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนสุวรรณฉัตรขาว 9 ชั้นเป็นทรงกลมซึ่งลักษณะโดยรวมตามแบบอย่างของพระโกศพระบรมอัฐิและพระอัฐินั้นมีการสร้างสืบกันมาตามพระราชประเพณีมาเป็นเวลาช้านาน การใช้สุวรรณฉัตรประดับหรือยอดพระโกศพระบรมอัฐินิยมจะใช้การพระราชพิธีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และในขบวนแห่อัญเชิญเมื่อเสร็จงานพระราชพิธีแล้วจะเชิญเข้าประดิษฐานในที่ประจำจะมีการเปลี่ยนใช้เป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับอยู่เหนือยอดพระโกศแทนซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาแต่โบราณราชประเพณี

นอกจากพระโกศยังมีถ้ำศิลาซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิโดยตรงทำด้วยหินอ่อนสีขาวกลึงเป็นรูปทรงคล้ายพระโกศลองใน เมื่อบรรจุพระบรมอัฐิเรียบร้อยแล้วจะเชิญลงในพระโกศทองคำลงยา ประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิครอบฝาพระโกศเพื่อการอัญเชิญหรือประดิษฐานต่อไป พระโกศทรงพระบรมอัฐินี้จะมีฐานรับสุวรรณฉัตรเพื่อการผลัดเปลี่ยนในการพระราชพิธีเป็นแป้นไม้แกะสลักปิดทอง ใช้รองรับฝาพระโกศ ในขณะที่ฝาพระโกศในการเก็บพระบรมอัฐิ สรงพระบรมอัฐิพระโกศทองคำนี้ถือเป็นพระโกศองค์ที่ 4 ที่จะต้องใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นพระโกศองค์สุดท้ายและองค์เดียวที่จะเก็บรักษาพระบรมอัฐิเฉพาะพระองค์สืบไปโดยตลอด

ส่วนพระบรมราชสรีรางคารจะมีการประมวลในผอบโลหะปิดทองพักไว้ในพระเมรุมาศเพื่อจะอัญเชิญเข้าขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 4 ซึ่งพระผอบนั้นจะมีการเตรียมไว้สององค์ประกอบด้วย พระผอบอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ถ้ำศิลาที่ฐานพุทธบัลลังก์พระอังคีรส พระอุโบสถวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม และพระผอบที่จะอัญเชิญไปยังฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหารฯโดยการออกแบบศึกษาจากผอบองค์เดิมนำมาประยุกต์ให้มีรูปทรงลวดลายชั้นเชิงต่างๆให้มีความงดงามสมพระเกียรติ

ในการจัดสร้างพระโกศทองคำลงยา อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีการรวบรวมช่างฝีมืองานประณีตไทย งานประณีตศิลป์ มีการจัดสร้างพระโกศงดงามสมพระเกียรติยศสูงสุด โดยผู้ออกแบบนั้นได้ยึดตามโบราณราชประเพณีเป็นหลักแต่จะสอดแทรกรายละเอียดหลายอย่างที่จะสื่อถึงพระองค์โดยเฉพาะพระโกศที่ออกแบบให้เป็นทรงเก้าเหลี่ยมสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศที่เป็นทรงบุษบก 9 ยอด ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมราโชวาทหลักๆดั่งเช่นความเพียร ความซื่อสัตย์ ความพอเพียง การจัดทำรูปทรงเก้าเหลี่ยมเปรียบเหมือนพระเมรุมาศเป็นทรงบุษบก 9 ยอด แสดงถึงความรำลึกถึงพระองค์โดยเฉพาะพระบรมราโชวาทต่างๆ สรุปรวบรวมคำสอนมาถึงเรื่องความเพียร ความซื่อสัตย์ที่อยู่ในใจ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้คนไทยนำมาใช้ทำให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัย

พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิเชิญลงในพระโกศทองคำและประมวลพระบรมราชสรีรางคารลงในพระโกศโลหะปิดทอง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วจะเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยาน พระผอบพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานลงบนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ที่จัดสร้างขึ้นใหม่โดยถอดแบบมาจากพระที่นั่งราเชนทรยาน

เมื่อขบวนพร้อมแล้ว ผู้บอกขบวนให้สัญญาณรัวกลับ ให้ขบวนพระบรมราชอิสริยยศริ้วขบวนที่ 4 ซึ่งประกอบไปด้วย มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ พระที่นั่งราเชนทรยานและพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย เครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชูปโภค พระประยูรญาติ ข้าราชบริพาร ยาตราขบวนออกจากพระเมรุมาศไปยังพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 1,074 เมตร ใช้เวลา 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 834 นาย

จากนั้นส่วนนำริ้วและพระที่นั่งราเชนทรยานเคลื่อนตรงผ่านประตูพิมานไชยศรีไปเทียบที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทอันเชิญพระโกศพระบรมอัฐิเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิในบุษบกแว่นฟ้าทองเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล

ในส่วนของพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร เมื่อเคลื่อนมาที่ศาลาสหทัยสมาคมจะแยกขบวนไปเทียบที่ประตูกำแพงแก้ววัดพระศรีรัตนศาสดารามและเชิญพระบรมราชสรีรางคารโดยพระเสลียงไปประดิษฐานในพระศรีรัตนเจดีย์

…………………………………………………………………………………………………………

ภาพ : ธัชวิทย์ ลี้ตระกูล , พัฒนฉัตร มุลวงศ์ศรี , ชาญณรงค์ พรดิลกรัตน์

Tags
royalty
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.