พระวิริยะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแสดงออกให้เห็นมาอย่างยาวนานถึงเจ็ดสิบปีตราบจนสิ้นรัชสมัย ยิ่งทำให้เราประจักษ์ว่า ‘ราชสมบัติ’ ของพระองค์หาใช่ทรัพย์สินใดๆแต่คือประชาชน รอยพระสรวลและความสุขของพระองค์คือการได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น พระองค์ทรงดูแล ‘ราชสมบัติ’ อย่างสุดพระราชหฤทัย ทุกย่างพระบาทที่ยาตราไป พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น ‘พลังแผ่นดิน’ พระองค์นี้จะพระราชทานพลังไว้ให้แก่ผู้ทุกข์ยาก โดยเฉพาะราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในวาระโอกาสต่างๆ ที่เป็นดั่งแสงทองส่องสว่างให้พสกนิกรชาวไทยเรื่อยมา ในการนี้นิตยสารเฮลโลจึงขอรวบรวมพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในวาระต่างๆเพื่อให้ชาวไทยได้น้อมนำมาปฏิบัติตาม ยึดคำสอนของพระองค์มาใช้การดำเนินชีวิตต่อไป
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๔๒

พระบรมราโชวาทเรื่องความสามัคคี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

พระบรมราโชวาชของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพิมพ์ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2531

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่คณะบุคคลต่าง ๆ และคณะลูกเสือชาวบ้านเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินและสิ่งของโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อพระราชทานในกิจการลูกเสือชาวบ้าน ณ ศาลาดุสิดาลัย วันอังคารที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๒๐

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ครูอาวุโส ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในโอกาสครบรอบ ๘๔ ปี แห่งการสถาปนาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒

พระบรมราโชวาทของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติค่ายลูกเสือวชิราวุธจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคมพ.ศ. ๒๕๑๒

พระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 และผู้บังคับกองพันทหารราบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 ในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหน่วยรบเฉพาะกิจ จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิแตนระหว่างเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะผู้บริหารสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒

พระบรมราโชวาทของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗”

พระบรมราโชวาทของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่บัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาชนบท จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๘

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖

“ …ข้าราชการไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด ระดับไหนมีหน้าที่อย่างไร ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญอยู่ในงานของแผ่นดินทั้งสิ้นทุกคนจึงต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถด้วยอุดมคติ ด้วยความเข้มแข็งเสียสละและระมัดระวังให้การทุกอย่างในหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องเที่ยงตรงด้วยความระลึกรู้ตัวอยู่เสมอว่าการปฏิบัติตัว ปฏิบัติงานของตนมีผลเกี่ยวเนื่องถึงสุขทุกข์ของประชาชน ตลอดจนความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของประเทศชาติ…” พระบรมราโชวาทเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557
“…คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคงชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ผู้ที่มีความสุจริต และความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ…” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2522
“…ในบ้านเมืองนี้ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อยจึงมีใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…” พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติค่ายลูกเสือวชิราวุธจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมพ.ศ. 2512
“…งานราชการนั้น คืองานของแผ่นดิน มีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนทุกคนงานทุกอย่างจึงต้องมีผู้ปฏิบัติและมีผู้รับช่วง เพื่อให้งานดำเนินต่อเนื่องไปไม่ขาดสาย ดังนั้นผู้ปฏิบัติบริหารงานราชการทุกฝ่ายทุกระดับจึงไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้ทำมาก่อน หรือใครเป็นผู้รับช่วงงานขึ้นเป็นข้อสำคัญนัก จะต้องถือประโยชน์ที่จะเกิดจากงานเป็นหลักใหญ่ แล้วร่วมกันคิดร่วมกันทำด้วยความอุตสาหะ เสียสละ และด้วยความสุจริตจริงใจ งานทุกอย่างจึงจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด และสำเร็จผลเป็นประโยชน์ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนตลอดไป” พระบรมราโชวาทเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี พ.ศ. 2558 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558
“…สัจจะวาจานั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิต ที่ดีที่งาม ที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ ‘สัจ’ เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ ‘วาจา’เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น…” พระบรมราโชวาทในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2525
“…ข้าราชการทุกฝ่ายมีหน้าที่เหมือนกันที่จะต้องตั้งใจขวนขวายปฏิบัติงานด้วยความฉลาดรอบคอบให้สำเร็จลุล่วงตรงตามเป้าหมายโดยไม่ชักช้าและที่จะต้องร่วมกับชาวไทยทุกคนในอันที่จะอุ้มชูรักษาความดีในชาติให้ยืนยงมั่นคงอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทย ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งสำคัญ ยิ่งจะต้องปฏิบัติให้ดี ให้หนักแน่นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลงานที่สำเร็จขึ้นจากความร่วมมือและจากความบริสุทธิ์ใจจักได้แผ่ไพศาลไปตลอดทั่วทุกหนแห่ง ยังความสุขความเจริญที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นได้ตามที่ปรารภปรารถนา…” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 30 มีนาคมพ.ศ. 2524
“…ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไรชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้เพราะสถาบันต่างๆตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น…” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจและอาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนามในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2514

“…สิทธิบัตรนี้เป็นของคนไทยคนไทยเป็นคนทำและการทำฝนนี้ได้กุศลให้ตั้งใจทำเหมือนกับถวายสังฆทานเพราะการทำฝนนี้ ไม่ได้ทำให้คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ…” พระราชกระแสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง ณวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2552
“ . . . ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูลทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดีข้อสำคัญเราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้เปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่การระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชาเหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2529
“ . . . สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมากจะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้นมีหวังว่า น้ำแข็งจะละลายลงทะเลและรวมทั้งน้ำทะเลนั้นจะพองขึ้นเมื่อน้ำพองขึ้นก็จะทำให้ที่ต่ำ เช่น กรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลท่วม จึงได้ข้อมูลว่า สิ่งที่ทำให้คาร์บอนในอากาศเพิ่มมากขึ้นนั้นมาจากการเผาเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ในดิน และจากการเผาไหม้…”พระราชดำรัสด้านสิ่งแวดล้อมพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532
“…พูดถึงไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้าและไฟฟ้าต้องใช้พลังงาน เพราะว่า สำหรับปั่นไฟฟ้าต้องใช้พลังงาน เพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้า อันนี้ก็ทำมานานแล้ว เวลาขาดแคลนเชื้อเพลิง ก็บอกว่าให้ปิดโทรทัศน์ ให้ปิดไฟ แล้วบอกได้ผลดีความจริงเปิดโทรทัศน์ ไม่เป็นไร ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ยังใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยันต้องหาวิธีที่จะทำให้เชื้อเพลิงเกิดขึ้นมาใหม่…” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548
“ …เราทำแล้วก็หมายความว่าเราไม่เดือดร้อนถึงเวลาเราอายุร้อยสิบแปดถ้าอย่างไรเราก็ใช้น้ำมันปาล์มของเราเอง คนอื่นอาจจะไม่ได้ คนอื่นอาจจะไม่มี แต่ว่าเรามี เพราะเราขวนขวายหาวิธีที่จะทำเชื้อเพลิงทดแทนได้ ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทน เราก็เดือดร้อนแล้วก็เป็นห่วง แต่เราไม่ต้องเป็นห่วงถ้าคนอื่นเขาไม่ทำ เขาอาจจะไม่มีน้ำมันไบโอดีเซลใช้ แต่ว่าเรามี เราคือข้าพเจ้าทำเอง…” พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548
“ …น้ำมันสมัยใหม่แพงไม่รู้ทำไมมันแพง แต่ก็ยังไงเป็นสมัยนี้อะไรๆก็แพงขึ้นทุกทีจะให้น้ำมันถูกลงมาก็ลำบากนอกจากจะหาวิธีที่จะทำให้น้ำมันราคาถูกซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน ถูกกว่านิดหน่อยคือ แทนที่จะใช้น้ำมันที่มีออกเทน95 ก็ใช้ออกเทน91 แล้วก็เติมแอลกอฮอล์เข้าไปนิดหนึ่ง ก็เป็นออกเทน95 อาจเป็นได้ว่า รถจะวิ่งไม่เร็วก็ดีเหมือนกัน รถไม่วิ่งเร็วเกินไปรถจะได้ไม่ชนกันมากเกินไป ก็จะช่วยประหยัดทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ให้พอเพียง…” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2543

” … เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้นมีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัวมีความเจริญได้อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ก็คือปัญหาเรื่องยาเสพติดถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการสูบฝิ่น และการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่งผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูก โดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งสามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก…” พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2517
“…ทุกคนขวัญเสียทุกคนอารมณ์ไม่ดีเรื่องการจราจร แต่ได้พยายามให้ทุกคนช่วยกันแก้ไขดีใจที่เห็นคนเอะใจว่า มีทางช่วยกันแก้ไขได้ แล้วก็มีคนที่ช่วยกันแก้ไม่น้อย อย่างเช่นตอนแรกที่มีโครงการพระราชดำริก็ทำ…” พระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมพ.ศ. 2536
“ . . . พื้นที่นี้มีความเสื่อมโทรม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด ให้พัฒนาพื้นที่นี้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์และเกษตรกรรมให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าไม้ได้ประโยชน์และอาศัยผลผลิตจากป่าไม้โดยไม่ต้องบุกรุกเข้าทำลายป่าอีกต่อไป…” พระราชดำรัสขณะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ห้วยทรายอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 5เมษายน พ.ศ. 2526
“…ดินแข็งเป็นดานอย่างนี้ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราปลูกหญ้าแฝกด้วยวิธีการที่เหมาะสมเมื่อฝนตกลงมาความชื้นจะอยู่ในดินบริเวณเรือนรากของหญ้าแฝก ที่ลงรากลึก. . . เปรียบเหมือนกับกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิตที่จะหยุดยั้งการพังทลายของดิน ชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลบ่า สามารถกักเก็บตะกอนดิน ทำให้เกิดหน้าดินและความชื้นใต้ดิน…จะปลูกผักปลูกหญ้าก็ได้และอีกประการหนึ่งรากของหญ้าแฝกแข็งเป็นพิเศษอาจสามารถเจาะลงไปในดินที่แข็งเป็นดานได้…”พระราชกระแสระหว่างเสด็จฯไปยังโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

“…เราจะทำให้ประเทศไทยกลับมีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นได้ขออย่าไปรังแกป่าเท่านั้นเอง…” พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิตดาลัย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2537
“…ถ้าทำอย่างนี้ให้แห้งข้างล่างมาลงก็ลงลงไปก็คือคงเข้าใจว่าทำไมเรามีความหนักใจแต่ถ้าเห็นด้วยในการที่จะมาทำให้แห้งข้างล่างเพื่อรับน้ำใดๆที่จะลงมาแล้วไอ้ข้างล่างต้องทำเขื่อนอย่างนี้จะแตกต่างจากเขื่อนที่เราทำมาแล้วในภาคเหนือภาคอีสานหรือภาคใดๆที่เก็บน้ำไว้ข้างบนเพื่อจะเก็บไว้หน้าแล้งหน้าฝนเก็บไว้ข้างบนไม่ให้ลงมาท่วมหน้าแล้งก็ปล่อยลงมาได้กินป่าสักก็ตามนครนายกก็ตามแก่งเสือเต้นก็ตามเก็บน้ำไว้ข้างบนเพื่อจะไม่ให้ท่วมลงมาและเมื่อไม่ท่วมแล้วเขาก็ทำกินได้…” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกประชุมข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายนพ.ศ. 2538
“…ตามปกติเวลาเราให้กล้วย กับ ลิงลิงจะเคี้ยวแล้วเก็บไว้ในแก้มลิง… เขาเคี้ยวแล้วเอาไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ ‘โครงการแก้มลิง’ น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำแก้มลิง’ เพื่อที่จะเอาน้ำปีนี้ไปเก็บไว้…” พระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมพ.ศ. 2538
“…ทุกปีที่ผ่านมา น้ำลดแล้วก็ลืม ฉะนั้นปีนี้ขอให้เก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้เป็นหลักฐาน ประกอบการแก้ไขในอนาคตในส่วน พระองค์ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้เพื่อเป็นสิ่งเปรียบเทียบกับปัญหาในอนาคต…” พระราชดำรัสพระราชทานแก่นายประเสริฐสมะลาภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครและผู้ตามเสด็จฯ ออกตรวจสภาพน้ำท่วมปี พ.ศ. 2526
“ …น้ำเป็นสิ่งมีชีวิต จะให้เขาพ้นไปไม่ได้ ต้องหาที่อยู่ให้เขา อยู่ๆจะปิดกั้นน้ำไม่ให้ไป มันไม่ได้ ผิดธรรมชาติ ต้องหาที่ให้เขาไป…” พระราชกระแสย้ำเตือนแก่นายประเสริฐ สมะลาภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครผู้ ตามเสด็จ ฯ ออกตรวจสภาพน้ำท่วมปี พ.ศ. 2526 เกี่ยวกับโครงการแก้มลิง
“ …วันนี้ก็ขอพูดขออนุญาตที่จะพูดเพราะว่าอั้นมาหลายปีแล้ว เคยพูดมาหลายปีแล้ว ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำเพียงพอ และ เหมาะสมคำว่า‘พอเพียง’ ก็หมายความว่า ให้มีพอในการบริโภคในการใช้ทั้งในด้านการบริโภคในบ้าน ทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรกรรมอุตสาหกรรมต้องมีพอ ถ้าไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภาคภูมิใจ ว่าประเทศเราก้าวหน้าเจริญก็ชะงัก ไม่มีทางที่จะมีความเจริญ ถ้าไม่มีน้ำ…” พระราชดำรัสถึงโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก จังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี โครงการเขื่อนเก็บน้ำแม่น้ำนครนายก จังหวัดนครนายกโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ศาลาดุสิดาลัยสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมพ.ศ. 2536
“ …ให้กรมชล ประทาน ‘พิจารณาความเหมาะสม’ ในการจัดทำทำนบดินกั้นน้ำบริเวณถนนตากใบ-สุไหงโกลกและที่เกาะสะท้อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นระยะเวลาหลายเดือน…อาจจะแก้ไขได้โดยการขุดลอกแม่น้ำสุไหงโกลกเป็นช่วงๆ …ขุดคลองระบายน้ำเพื่อช่วยให้น้ำที่ท่วมในฤดูมรสุมมีทางระบายลงสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น…” พระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านปาดังยอ ตำบลมูโนะอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2517

“…การทำฝนเทียมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ วัสดุและเจ้าหน้าที่ งานที่ทำนี้ก็ต้องสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย แต้ถ้าผลที่ได้ คือจะเป็นผลที่น่าพอใจ การทำฝนนี้ เป็นสิ่งที่ลำบากหลายๆ ประการ ทางด้านเทคนิค และในด้านจังหวะที่จะทำเพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้จะพลิกฤดูกาลไม่ได้ ไม่ใช่ว่าฝนแล้งจะบันดาลได้อย่างปาฏิหาริย์ทำให้มีฝนเพียงพอกับการเพาะปลูกมิได้ หรือจะแทนกาชลประทานที่ขุดเรียบร้อยกว้างขวางก็ไม่ได้ แต่เป็นทางหนึ่งที่มีหวัง สำหรับฤดูกาลที่ควรจะมีฝน และฝนเทียมจะช่วยให้ประคองพืชผล ไม่ให้สิ้นไปพอได้ การทำฝนเทียมนี้เป็นสิ่งที่ใหม่ จึงต้องทำโครงการอย่างระมัดระวัง เพราะว่าสิ้นเปลือง ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ…” พระราชดำรัสเกี่ยวการโครงการฝนหลวง โครงการในพระราชดำริ ณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 25กรกฎาคม พ.ศ. 2517
“…วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญ ในการสร้างความเจริญของบ้านเมือง จึงควรสนับสนุนให้มีการค้นคิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภาวะและความต้องการของประเทศขึ้นใช้เองอย่างจริงจังถ้าสามารถค้นคิดได้มากเท่าไหร่ จะเป็นการประหยัดและช่วยให้สามารถนำไปใช้ในงานต่างๆได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเท่านั้น…” พระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2531
“…การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศด้วยยิ่งสมัยปัจจุบัน ที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่าย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุดควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดีมีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพบ้านเมืองของเราเพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง…” พระราชดำรัสที่พระราชทานเนื่องในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติครั้งแรก ณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 15กรกฎาคมพ.ศ. 2526
“ …เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มด้วยซ้ำไป…” พระราชดำรัสจากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542
“…เศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่สองอย่าง…จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทนต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้…คำว่าพอเพียง มีความหมายว่าพอมีกินเศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตัวเอง…คำว่าพอคนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…” พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่4 ธันวาคม พ.ศ. 2541
“ …ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขาได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ภายในเงินเดือน…กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์…” พระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมพ.ศ. 2540
“…(Our loss is our gain)’ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา หรือ เราขาดทุนเราก็ได้กำไร’ …การเสีย คือการได้ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้…” พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัยสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2534
“…มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ก็ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมูลนิธิชัยพัฒนาในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งประสบความเดือดร้อนและอาจประสบความเดือนร้อนในอนาคต เพื่อที่จะให้เขามีความมั่นใจว่า วันนี้อาจยังไม่เดือดร้อน แต่วันหน้าถ้าเดือดร้อนก็จะมีคนมาช่วยเหลือ…” พระราชดำรัส ในโอกาสที่ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชปูถัมภ์นำคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และนักเรียนทุนพระราชทาน เข้าเฝ้าฯณ ศาลาดุสิดาลัยเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2539

“ …ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐานคือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไ ป . . . ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จแน่นอนบริบูรณ์…” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่19 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
“…การสังคมสงเคราะห์นั้น มีความหมายกว้างขวางมาก กินความถึงการดำเนินการทุกอย่างที่จะช่วยเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ หรือกลุ่มชนที่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นชาติ และผู้ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ให้มีความสุขทั้งทางกายและจิตใจ ให้ได้มีปัจจัยอันจำเป็นแก่การครองชีพคือ อาหารเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ได้รับการศึกษาอบรมตามควร ตลอดจนมีความรู้ที่จะนำมาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพื่อความเรียบร้อย และความเป็นปึกแผ่นของสังคม…” พระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2505
“รู้ไหมว่าทำไมโดมิโนจึงมาหยุดที่เมืองไทย…..เพราะสังคมไทยและคนไทยนั้นยังเป็นสังคมที่ให้กันอยู่ บ้านเมืองสงบลงได้เพราะเรา ‘ให้’ กับแผ่นดิน…” พระราชดำรัสพระราชทานแก่ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จากหนังสือ ‘ร้อยเรื่องเล่า: เกร็ดการทรงงาน’
“ …ความจงรักภักดีในชาตินั้น คือความสำนึกตระหนักในความเป็นไทยในอิสรภาพ และในหน้าที่ที่จะธำรงรักษาชาติประเทศไว้ให้เป็นอิสระมั่นคง” พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2525
“…ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบ เป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการทำงาน สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติงานให้ชอบคือให้ถูกต้องและเป็นธรรม…” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม4 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมพ.ศ. 2519