1.พระมหากษัตริย์องค์เดียวในโลกที่เสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ชีวิต ณ ต่างแดนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาซูเซตส์สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 นับว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์เดียวในโลกที่เสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา
2.ทรงฉลองพระเนตรตั้งแต่ยังไม่ 10 พรรษา
ครูประจำชั้นสังเกตเห็นว่าเวลาจะทรงจดอะไรจากกระดานดำจะต้องลุกขึ้นบ่อยๆพระองค์จึงทรงฉลองพระเนตร(แว่นสายตา)ตั้งแต่มีพระชนมายุยังไม่เต็ม 10 พรรษา
3.ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ‘แสงเทียน’ เป็นเพลงแรก
เมื่อมีพระชนมายุ 18 พรรษาในพ.ศ. 2489 ทรงพระราชนิพนธ์เพลงทั้งสิ้นรวม 48 เพลง ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะประทับใจผู้ฟังและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยทรงพระราชนิพนธ์เพลง‘แสงเทียน’เป็นเพลงแรก
4.ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งสถาบันดนตรีและศิลปะแห่ง กรุงเวียนนา
เมื่อครั้งเสด็จฯเยือนประเทศออสเตรียนั้นวงดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เคสตร้าแห่งกรุงเวียนนาได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด‘มโนราห์’ ‘สายฝน’ ‘ยามเย็น’ ‘มาร์ชราชนาวิกโยธิน’ และ ‘มาร์ชราชวัลลภ’ ไปบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2507และถ่ายทอดเสียงไปทางวิทยุทั่วประเทศ สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง)ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกและมีพระชนมายุเพียง 37 พรรษา

5.ทรงตั้งพระนามลำลองให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์
โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯมีพระนามลำลองว่า”ปูเป้”เป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าตุ๊กตาทรงตั้งพระนามลำลองให้แก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯว่า “ชาย”ส่วนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงมีพระนามลำลองว่า”น้อย”และพระบิดาทรงตั้งพระนามอีกฉายาหนึ่งว่า”สลาตัน”เพราะว่าทรงวิ่งได้อย่างรวดเร็วมาก และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯทรงมีพระนามลำลองว่า”เล็ก”เช่นเดียวกับพระบิดา

6.ทรงเคยซื้ออุปกรณ์ต่างๆมาแกล้งข้าราชบริพาร
ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร เคยเล่าว่าทั้งสองพระองค์ทรงมีพระอารมณ์ขันอย่างยิ่ง แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมองภายนอกจะทรงดูเคร่งขรึมเป็นนิตย์ ทรงพระสรวลยาก ซึ่งต่างจากพระอุปนิสัยร่าเริงสมัยเมื่อเป็นพระอนุชาเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆที่ทรงผ่านมาสมัยที่ประทับต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยทรงซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาแกล้งข้าราชบริพารโดยเฉพาะ เช่น ทรงซื้อกล่องแป้งมาฝาก (เปิดแล้วมีตัวอะไรยาวๆ พุ่งออกมา)ขวดพีนัทบัตเตอร์(รับสั่งให้ทาขนมปังกรอบ) หน้ากากผี มือผีหรือเดินไปเหยียบอะไรที่ทรงวางกับดักไว้ดังปังและปืนจุดบุหรี่ที่จุดแล้วดังปัง

7.‘ติโต’ แมวทรงเลี้ยงเพียงตัวเดียว
‘ติโต’ เป็นแมวตัวเดียวที่เป็นแมวทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเลี้ยงระหว่างประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีสีน้ำตาลเข้มและมีหูกับส่วนต่างๆออกสีเข้มกว่าตัว อกสีอ่อน ตาสีฟ้า เป็นแมวที่ชอบการท่องเที่ยว ชอบหนีไปเที่ยวข้างนอกแล้วเข้าพระตำหนักไม่ได้เป็นประจำทั้งยังช่างครวญครางคล้ายจะพูดได้เป็นที่สุด

8.โปรดการถ่ายภาพมาตั้งแต่เป็นพระอนุชา
กล้องที่ทรงใช้เริ่มแรกไม่มีที่วัดแสงจึงต้องทรงใช้ทักษะการถ่ายภาพอย่างสูง ทรงถ่ายภาพได้อย่างมืออาชีพและเชี่ยวชาญในด้านการล้างฟิล์มเอง อัดเอง ทรงมีห้องมืดโดยเฉพาะ มีรับสั่งว่ารูปจะบอกถึงสถานที่และกาลเวลาได้ละเอียดกว่าคำพูด ทรงเรียงเก็บพระรูปเข้าอัลบั้มด้วยพระองค์เอง ทรงเขียนเบอร์เรียงตามลำดับวัน เดือน ปี เก็บไว้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน

9.ทรงมีรสนิยมในการทรงพระอักษรแบบชาวตะวันตก
โปรดการ์ตูนฝรั่ง เช่น ตินติน (Tin Tin) หรือเรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า แตง แตง หนังสือการ์ตูน Mad เป็นต้น
ทรงพระอักษรหนังสือพิมพ์ไทยและฝรั่ง นิตยสารต่างประเทศ เช่น Time, Newsweek, The Economist และยังโปรดทรงพระอักษรหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลสำคัญและหนังสือเกี่ยวกับดนตรีอีกด้วย

10.เหตุการณ์ที่น่าตกใจและใกล้พระองค์ที่สุด
คือการลอบวางระเบิดใกล้พลับพลาที่ประทับในจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2520 และได้เกิดระเบิดขึ้นสองครั้งในหมู่ราษฎรที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้ทรงสะทกสะท้าน หากแต่ประทับอยู่อย่างองอาจสมกับที่ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย หลังจากเหตุระเบิด ประชาชนบางส่วนได้รับบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาล แม้ว่าราชองครักษ์จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯกลับพระตำหนักและทูลว่าไม่ควรเสด็จฯโรงพยาบาลเนื่องจากทางที่จะกลับเมื่อค่ำแล้วจะยิ่งอันตราย พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าเขาเจ็บนี่เพราะเขามาหาเราเราต้องไปเยี่ยมมีรับสั่งให้เลี้ยวรถยนต์พระที่นั่งไปโรงพยาบาลทันที
……………………………………………………………………………………….
ภาพจากสำนักพระราชวัง,วิกิพีเดีย และ GETTY IMAGES