Home > Royalty > ย้อนความสัมพันธ์ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว – สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักพระราชวังมีประกาศอย่างเป็นทางการว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 พื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และ สมเด็จพระราชินีคามิลล่า ถือเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการในต่างประเทศ ‘ครั้งแรก’ ของ ในหลวง รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นับตั้งแต่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

ในหลวง รัชกาลที่ 10 - สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปถวายการต้อนรับ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ณ สนามบินกองทัพอากาศ ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 (Photo by Jayne Fincher/Princess Diana Archive/Getty Images)

ประกาศสำนักพระราชวัง ระบุว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2566 ตามคำทูลเชิญของ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน

​ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี จะทรงร่วมงานพระราชทานเลี้ยงรับรองพระประมุข ประมุข และผู้แทนของประเทศต่าง ๆ ณ พระราชวังบักกิงแฮม ในวันศุกร์ ที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2566 และจะทรงร่วมพระราชพิธี บรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2566 ​จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน”

ในหลวง รัชกาลที่ 10 - สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปถวายการต้อนรับ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ณ สนามบินกองทัพอากาศ ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 (Photo by John Shelley Collection/Avalon/Getty Images)

การเสด็จฯ ทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษฯ ครั้งนี้นอกจากเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการในต่างประเทศครั้งแรก ยังเป็นการเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักรในรอบทศวรรษ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเชิญพระราชสาส์นไปทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองในโอกาสที่ ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 18 และ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ด้านความสัมพันธ์ระหว่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในปี พ.ศ. 2531 ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะนั้น) ไปถวายการต้อนรับ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และ ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ณ สนามบินกองทัพอากาศ ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2556 ยังมีภาพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับถัดจาก เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และ คามิลล่า ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ขณะทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเล็ม อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ในหลวง รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับถัดจาก เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และ คามิลล่า ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ขณะทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเล็ม อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 (Photo by Peter Dejong-Pool/Getty Images)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยัง สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ในโอกาสที่เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ความว่า “ฝ่าพระบาทในยามที่เรายังคงรำลึกถึงพระราชกรณียกิจอันสูงส่งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หม่อมฉันในนามของประชาชนชาวไทยขอถวายพระพรชัยมงคลและความปรารถนาดีด้วยใจจริงในโอกาสที่ฝ่าพระบาทเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

ฝ่าพระบาททรงเป็นที่ชื่นชมจากนานาประเทศในโลกด้วยทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ทรงเป็นผู้นำด้วยพระจริยวัตรอันเป็นแบบอย่าง อีกทั้งทรงมีบทบาทสำคัญตลอดมา ในการปลูกฝังเสริมสร้างความสำนึกในสิ่งที่เป็นปัจจัยความผาสุกของมนุษยชาติ โครงการในพระราชดำริที่โดดเด่นของฝ่าพระบาทอันเป็นที่ประจักษ์อย่างเด่นชัด ได้แก่ มูลนิธิเดอะพรินส์ทรัสต์ ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือเยาวชนผู้ด้อยโอกาสเป็นจำนวนนับล้านคน และพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ประการหนึ่งที่ฝ่าพระบาทและหม่อมฉันต่างได้รับมรดกอันล้ำค่าจากพระบรมราชบุพการี อันเป็นเหมือนดวงประทีปนำทาง ด้วยการสืบสานพระราชกรณียกิจของแต่ละพระองค์ ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงต่างได้ตั้งสัตยาธิษฐานให้คำมั่นว่า จะสืบสานและรักษาไว้ซึ่งมรดกนี้หม่อมฉันยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นประจักษ์ชัดว่าประเทศไทยและสหราชอาณาจักรต่างได้ดูแลรักษาความสัมพันธ์ต่อกันให้แน่นแฟ้นเสมอมา ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประชาชนของเราทั้งสองเท่านั้น แต่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสองด้วย

ประชาชนชาวไทยยังคงรำลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของฝ่าพระบาท เมื่อปีพุทธศักราช 2531 ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศมกุฎราชกุมาร เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชบิดาของหม่อมฉัน ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ หม่อมฉันและประชาชนชาวไทยขอถวายพระพรชัยมงคลให้ฝ่าพระบาททรงมีรัชสมัยอันรุ่งเรือง เปี่ยมด้วยพระบารมียิ่งยืนนาน (พระปรมาภิไธย) มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

Courtesy Photo of Getty

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.