Home > Royalty > พิธีปักหมุดทำผังเพื่อการก่อสร้างพระเมรุมาศ

เมื่อวันจันทร์ ที่ 26 ธันวาคม 2559 มวลเมฆลอยมาบดบังแสงพระอาทิตย์ที่สาดส่องแสงแดดยามบ่าย ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ก่อนเวลาตามฤกษ์ ‘พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร’ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปักหมุดทำผังเพื่อการก่อสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี

ตามที่ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนั้น เพื่อให้การก่อสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติยศทุกประการ

‘พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร’ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯ  จึงมอบหมายให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีปักหมุดทำผังเพื่อการก่อสร้างพระเมรุมาศฯ โดยพิธีเริ่มต้นขึ้นในเวลา 15.59 น. ประธานจุดธูปเทียนบูชาเครื่องสังเวยที่โต๊ะเครื่องบวงสรวง พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบูลย์เวทย์บรมหงส์ พรหมพงศ์พฤฒาจาริย์ อ่านโองการบวงสรวงฯ ประธานฯ โปรยข้าวตอก ดอกไม้ที่เครื่องสังเวย จากนั้นประธานฯ และผู้ปักหมุดเดินไปประจำหลักหมุด

ต่อมาในเวลา 16.19 น. พราหมณ์เป่าสังข์แตรให้สัญญาณเริ่มปักหมุดพระเมรุมาศ โดยใช้ไม้มงคลปักหมุด จำนวน 9 จุด ประกอบด้วย หมุดหลัก พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ปักหมุด และหมุดรอง 8 จุด ได้แก่ ‘คุณวีระ โรจน์พจนรัตน์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปักหมุดที่ 2 ‘ดร.กฤษณ์ กาญจนกุญชร’ ราชเลขาธิการ ผู้ปักหมุดที่ 3 ‘ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา’ เลขาธิการพระราชวัง ผู้ปักหมุดที่ 4 ‘ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ’ รองราชเลขาธิการ ผู้ปักหมุดที่ 5 ‘คุณกฤษศญพงษ์ ศิริ’ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ปักหมุดที่ 6 ‘คุณจิรชัย มูลทองโร่ย’ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ปักหมุดที่ 7 ‘คุณภัทรุตม์ ทรรทรานนท์’ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ปักหมุดที่ 8 และ’คุณเดโช สวนานนท์’ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ปักหมุดหลักที่ 9

อนึ่ง การปักหมุดเป็นการกำหนดตำแหน่งอ้างอิงในการวางผังเพื่อการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวคิดหลักของการออกแบบวางผัง โดยในทางการออกแบบสามารถกำหนดได้หลายวิธีตามความเหมาะสม สำหรับผังในการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ กำหนดตำแหน่งอ้างอิงโดยการพิจารณาจุดกึ่งกลางของยอดพระเมรุมาศเป็นจุดหลัก  โดยจุดกึ่งกลางดังกล่าวกำหนดจากจุดตัดของแนวแกนสำคัญ 2 แกน ได้แก่ แกนทิศเหนือ-ใต้ หรือแกนในแนวขนานกับความยาวของท้องสนามหลวง ซึ่งสัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางของพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก หรือแกนในแนวตั้งฉากกับแนวแกนเหนือ-ใต้ สัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ส่วนหมุดประกอบอีกจำนวน 8 หมุด คือตำแหน่งกึ่งกลางยอดบริวารของพระเมรุมาศ ได้แก่ ยอดซ่าง 8 ยอด และยอดมณฑปน้อย 8 ยอด รวมตำแหน่งหมุดทั้งหมด 9 หมุด

ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ดำเนินการออกแบบพระเมรุมาศและอาคารประกอบในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้ยึดหลักแนวคิดในการออกแบบคือ 1.ออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 2.ศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และ 3.ศึกษาและออกแบบโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนา และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมุติเทพ ตามระบอบเทวนิยม

ส่วนงานสถาปัตยกรรมแบ่งอาคารออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาคารในมณฑลพิธี ณ ท้องสนามหลวง และอาคารนอกมณฑลพิธี  และงานศิลปกรรมประกอบ มีรายละเอียดดังนี้ กลุ่มอาคารในมณฑลพิธี ณ ท้องสนามหลวง ได้แก่ พระเมรุมาศ เป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณีรูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ โดยมีรูปแบบเป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก เครื่องยอดทรงมณฑป มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นสูงมี 3 ชั้น ชั้นบนที่มุมทั้งสี่ประกอบด้วยซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด

นอกจากนี้ยังมี พระที่นั่งทรงธรรม ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ผังแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงกึ่งกลางสำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี ปีกอาคารทั้ง 2 ด้านเป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า ครั้งนี้เตรียมพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมพิธีประมาณ 2,400 ที่นั่ง, ศาลาลูกขุน เป็นอาคารโถงทรงโรง  สถานที่ที่เฝ้าของข้าราชการ ออกแบบให้มี 2 ลักษณะ รวม 6 หลัง (นอกมณฑลพิธีอีก 5 หลัง), ทับเกษตร อาคารเครื่องยอดทรงมณฑป 3 ชั้น ตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 มุม เพื่อแสดงแนวเขตมณฑลพิธี ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธีพักและฟังสวดพระอภิธรรมและ ทิม มีจำนวน 10 หลัง  สร้างติดรั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศ  ด้านหน้าเปิดโล่งหลังคาแบบปะรำ สำหรับเจ้าพนักงาน  พระสงฆ์  แพทย์หลวงพัก  ตลอดจนใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและทำเป็นห้องสุขา

ขณะที่การออกแบบภูมิทัศน์ วางผังตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ โดยมีพระเมรุมาศเป็นประธานในพื้นที่ ซึ่งเปรียบได้กับเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลการออกแบบภูมิทัศน์ มีการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริฯ ต่างๆ นำเป็นข้อมูลในการคิดออกแบบสร้างสรรค์ในแต่ละส่วนพื้นที่รอบมณฑลพิธี

ด้านกลุ่มอาคารนอกมณฑลพิธี ได้แก่ พลับพลายก มีลักษณะเป็นอาคารโถงใช้สำหรับเป็นที่ทรงประทับรอรับส่งพระบรมศพขึ้นราชรถ มีทั้งหมด 3 หลังได้แก่ พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พลับพลายกหน้ามณฑลพิธี ท้องสนามหลวง และพลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท โดยทั้งหมดมีกำหนดการสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายนของปีนี้ ซึ่งต้องใช้ความประณีตและใส่ใจรายละเอียดในทุกขั้นตอนการสร้าง เพื่อถวายพระเกียรติยศสูงสุด

…………………………………………………………….

Cr. Photos : AFP , กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม

Tags
royalty
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.