Home > Royalty > สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯไปทรงเป็นประธานในงาน ‘รักษ์ป่าน่าน’

เมื่อเวลา 08.06 วันที่ 6 มีนาคม 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานสัมมนา ‘รักษ์ป่าน่าน’ ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อระดมความรู้และประสบการณ์ ในการหาแนวทางและวิธีการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าน่าน โดยมีคุณไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการบรรยายเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการที่ส่งผลให้ได้ป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านกลับคืนมา ตลอดจนข้าราชการ นิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนจังหวัดน่านเฝ้ารับฯ เสด็จ

ในการนี้ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย” โดยเริ่มจากซุ้ม ป่าไม้สาธิต ป่าทดลองส่วนพระองค์แห่งแรก ฯลฯ รวมถึงนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กิจกรรมการปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่าน่านให้กับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดน่านผ่านกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนและครูร่วมกันบูรณาการสร้างสรรค์ขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับว่า “เป็นโครงการที่ดีมากๆ ” และภายหลังทรงฟังการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ทรงมีรับสั่งห่วงใยเกี่ยวกับอุทกภัยดินโคลนถล่มครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2543 ที่บ้านสบปืน ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่านว่า “ตอนนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ไหม ?”

จากนั้น​เสด็จฯ เข้าหอประชุม และพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 3 ความว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มาเปิดการสัมมนารักษาน่าน ครั้งที่ 3 ในวันนี้ และขอขอบใจหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและเอกชน อันประกอบด้วย สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ได้ร่วมกันระดมความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ในอันที่จะแสวงหาแนวทางและวิธีการที่จะหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าน่านอย่างแท้จริง เป็นวิธีการที่ให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยกับป่าสามารถดำรงชีพมีวิถีชีวิตการทำมาหากินกับป่าได้ อีกทั้ง ยังได้นำแนวทางการดำเนินการต่างๆ นั้นจะมีการถ่ายทอดสู่เยาวชน เพื่อให้การรักษ์ป่าน่านได้ดำเนินต่อไปอย่างดียิ่ง”

พร้อมทรงบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย” โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อเสด็จฯ ไปที่ไหน ก็เห็นคนตามเสด็จจำนวนมาก หลายคนจดพระราชกระแส และนำมาแจกจ่าย เท่าที่ตามเสด็จไปภาคต่างๆ ในประเทศไทย สังเกตว่าโปรดให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ตามเสด็จฯ ไปด้วย มีหน่วยงานการเกษตร ชลประทาน พัฒนาที่ดิน กรมแผนที่ทหาร ได้เห็นส่ิงต่างๆ การที่ทำงานเพื่อความผาสุขของราษฏรนั้น ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำได้โดยไม่ปรึกษาผู้อื่น”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งด้วยว่า ป่าไม้จะเจริญได้ก็ต้องมีน้ำ ต้องมีความชุ่มชื้น มีดิน มีปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยก็มาจากใบไม้ที่หมักและเพิ่มสารที่มีแร่ธาตุเพื่อเป็นอาหารของพืช ซึ่งพืชจะต้องอยู่ด้วยระบบนิเวศน์ที่พึ่งพาอาศัยกัน ขณะเดียวกัน ป่าไม้ช่วยรักษาความชุ่มชื่น รักษาหน้าดิน โดยปัญหาการตัดไม้ในปัจจุบัน คือ คนมีจำนวนมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายมาอยู่อาศัย ทำให้มีการบุกรุกทำลายป่ากันมากขึ้น แม้ว่าสมัยก่อนก็มีการบุกรุกแล้วเช่นกัน คนที่ทำสัมประทาน ป่าไม้จะต้องดูแลอย่างเคร่งครัด เมื่อตัดไปเท่าไหร่ ก็ต้องปลูกคืนกลับไปตามข้อกำหนด ต้นไม้ปัจจุบัน ไม่ได้เป็นป่าธรรมชาติ แต่เป็นป่าที่ปลูกทดแทนที่หายไป ประเทศไทยมีการลักลอบตัดต้นไม้ที่มีคุณค่า คนตัดไม้ใช้เลื่อยไฟฟ้า หรือการตัดที่โคนต้น ทำให้ท่อน้ำเลี้ยงขาด ต้นไม้จึงยืนต้นตาย แล้วมีการอ้างว่าไม่ได้ตัดไม้มันตายเอง บางคนไม่ได้อยากเอาไม้มาให้แต่อยากได้ที่ดิน ก็ทำการเผา ต้องพยายามแก้เรื่องนี้

ก่อนจะทรงเล่าต่อว่า เมื่อต้นรัชกาล ซึ่งขณะนั้นไม่เข้าใจผู้ใหญ่มากนัก ได้ฟังจากนายแก้วขวัญ วัชโรทัย อดีตเลขาธิการพระราชวัง ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ตอนเสด็จพระราชดำเนินวังไกลกังวล ระยะแรกเสด็จทางรถไฟ ต่อมาประทับรถยนต์ ทอดพระเนตรเห็นต้นยางนาในพื้นที่ โปรดให้ข้าราชบริพารเก็บเม็ดยางนามาถวาย แล้วปลูกในสวนจิตรลดา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ยางนา และทำเป็นป่าไม้สาธิต ให้ประชาชนสามารถเข้ามาศึกษาได้ มีการเพาะเนื้อเยื้อ สมัยนั้นถือเป็นเรื่องสมัยใหม่ นอกจากนี้จิตรลดาได้ทำการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ต่างๆ อีกด้วย

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งเมื่อปี พ.ศ. 2519 หรือก่อนหน้านั้น ในเรื่อง ‘การปลูกป่าไม้ในใจคน’ ว่า ควรปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อนแล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง ไม่ว่าพื้นที่ไหนก็ตาม ทรงใช้เวลาในการศึกษา ถึงค่ำถึงดึก เรื่องได้ว่าปูพรหมทุกหมู่บ้าน การทรงงานด้านป่าไม้ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยนั้น ต้องรักษาป่าไม้ พัฒนาสภาพดินแหล่งน้ำ พัฒนาความรู้และการศึกษา ทุกอย่างต้องรวมกัน”

ก่อนที่พระองค์จะทรงสรุปการบรรยายในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอนุรักษ์ป่าไม้ ต้องรักษาป่าไม้ พัฒนาคุณภาพดิน แหล่งน้ำ พัฒนาสัตว์ พืช และพัฒนาการศึกษา ทุกอย่างต้องรวมกัน ในที่สุดการพัฒนาคนให้มีสุขภาพดี ตวามเป็นอยู่ดี มีความรู้ มีความสุข เพื่อให้ช่วยกันรักษาบ้านเมืองสืบต่อไป

Tags
royalty
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.