ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ในการ ‘สืบสาน รักษา และต่อยอด’ พระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อธำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ และการอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมืองในแต่ละท้องถิ่นให้ดำรงอยู่คู่คนไทย ทั้งยังทรงสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญา ผ้าไทย ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทั้งในและต่างประเทศ

โครงการพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’
นับเนื่องจากพระองค์ทรงมีโอกาสเสด็จไปทรงเยี่ยมชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้าน 3 ภูมิภาค โดยมีพระวินิจฉัยแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้า และหัตถกรรมชุมชน จำนวนกว่า 195 ผลิตภัณฑ์ นับตั้งแต่การดำเนินเยือนกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวภูไทย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2563
การเสด็จไปในครั้งนั้นสร้างความประทับใจให้กับพสกนิกรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ โดยเฉพาะกลุ่มช่างทอผ้าในหมูบ้าน ทรงเชิญชวนให้ศิลปินช่างทอผ้าหลายสิบคนมาเริ่มการพัฒนาพร้อมกับพระองค์ท่าน โดยมีรับสั่งว่า “ถ้าหนูให้งานทำ แม่ ๆ จะทำกันไหม” เมื่อเหล่าแม่บ้านบ้านดอนกอยตอบกลับไปว่าพร้อมจะทำ ก็มีรับสั่งตอบกลับ “หนูให้งานต้องไม่ขี้เกียจกัน อยากจะให้มีเงินใช้”
นํ้าพระหฤทัยที่แน่วแน่และชัดเจนนี้เอง เป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้การพัฒนาผ้าทอแบบดั้งเดิมก้าวหน้าไปในทุกมิติ ทั้งคุณภาพ เทคนิคการทอ การสร้างสรรค์ลวดลาย การเลือกใช้สีธรรมชาติ ก่อนต่อยอดเป็นเสื้อสำเร็จรูป กระเป๋า ของที่ระลึกของชุมชนบ้านดอนกอย เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเป็นที่มาของโครงการพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ส่งผลให้ชาวบ้านประสบภาวะตกงาน ขาดรายได้ จากผลกระทบโควิด-19 ณ วันนี้กลับมามีรายได้จุนเจือครอบครัว และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

‘ดอนกอยโมเดล’ ชุมชนต้นแบบของประเทศ
จากวันนั้นถึงวันนี้ผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอย้อมครามดีไซน์ทันสมัยจากชุมชนบ้านดอนกอย เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนไม่ตํ่ากว่า 10,000 บาทต่อเดือน/ครัวเรือน จากเดิมมีรายได้เพียง 700 บาทต่อเดือน นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานแนวคิดให้คนในชุมชนพัฒนาผ้าจากผ้าย้อมคราม เป็นผ้าย้อมสีธรรมชาติอื่น ๆ พร้อมกับทรงออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ดูทันสมัยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
พระองค์ยังพระราชทานคำแนะนำ พร้อมกับทรงหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาแบ่งปันองค์ความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงทรงติดตามการดำเนินงานของกลุ่มทอผ้าอย่างใกล้ชิด โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีการสนองแนวพระดำริด้วยการจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ให้เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาเรื่องผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัด ถ่ายทอดองค์ความรู้ กระบวนการทอผ้า และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้สนใจสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพ
นอกจากยังทรงส่งเสริมให้มีการกระบวนการทอและย้อมผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยทรงเล็งเห็นถึงแนวโน้มที่คนทั่วโลกหันมาใส่ใจความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นการทำงานที่เป็นเพียงแต่การหาเลี้ยงชีพนั้นไม่พอ ต้องพยายามปรับตัวให้ทันกับโลกกว้างที่นับวันยิ่งเข้ามาใกล้ชีวิตของชาวบ้านในทุกขณะ ทั้งยังมีพระประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพผ้าในชุมชนบ้านดอนกอยไปสู่การเป็น ‘ชุมชนต้นแบบ’ ของประเทศอีกด้วย

จากดอนกอยสู่ ‘นาหว้าโมเดล’
โครงการ ‘นาหว้า โมเดล’ ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับชุมชนทอผ้าที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้าไทย ตลอดจนองค์ความรู้ เทคนิค และวิธีการเกี่ยวกับเส้นใย สีธรรมชาติ ไปจนถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ที่สามารถนำไปออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ทุกเพศทุกวัย
ในการเสด็จเยี่ยมเยียนชุมชนนาหว้าในปี พ.ศ. 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้พระราชทานคำแนะนำ และทรงนำแนวทางที่ทรงทดลองทำจนประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมแล้วที่บ้านดอนกอย มาถ่ายทอดสู่ชุมชนนาหว้าด้วยโดยมีพระดำริให้มีการฟื้นฟู ‘การเลี้ยงหนอนไหม’ สำหรับโครงการ ‘นาหว้า โมเดล’ เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถนำเส้นใยจากหนอนไหมไปผลิตผืนผ้าได้ทุกเมื่อตามต้องการ โดยลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเส้นใย เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถพึ่งพาตนเองในด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าตั้งแต่ต้นนํ้าสู่ปลายนํ้าได้อย่างยั่งยืน

พระราชทานลายผ้า แก่กลุ่มทอผ้าทั่วภูมิภาค
นอกจากพระราชทานแนวพระดำริและองค์ความรู้ต่าง ๆ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ยังตั้งพระทัยริเริ่มงานพัฒนาลายผ้าเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มทอผ้าลายแปลกใหม่ อันเป็นการขยายตลาด และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญ สวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น โดยพระราชทานพระอนุญาตแบบผ้าให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่นทั่วประเทศ
- ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ใน พ.ศ. 2564 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานลายผ้า ที่ทรงออกแบบลายภายใต้ชื่อ ‘ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ ทุกลวดลายเปี่ยมด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึงSIRIVANNAVARI, จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน


- ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา นอกจากนี้ยังทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา’ โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก ‘ผ้าขิดลายสมเด็จ’ ซึ่งปรากฏบ่อยครั้งในฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งนี้ทรงนำมาออกแบบและผสมผสานให้เกิดความร่วมสมัย เป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ที่แฝงด้วยความหมายและประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการทอผ้าในประเทศไทย
- ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย โดยมีการเว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับแต่ละท้องถิ่น
- ลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์
- ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ปรารถนาให้คนไทยอยูดี่มีสุข
- ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ ลายต้นสนนี้เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ
- ลายหางนกยูงที่เชิงผ้าหมายถึงความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

หนังสือ Thai Textiles Trend Book
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของการทรงงานเกี่ยวกับแฟชั่นทั้งในไทยและระดับสากล ทำให้ทรงทราบดีถึงความสำคัญของกระแสแฟชั่น หรือที่เรียกว่า ‘เทรนด์’ อันเป็นแนวคิดที่เหล่าดีไซเนอร์นำไปต่อยอดออกแบบเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เมื่อทรงรับสนองแนวพระราชปนิธานเรื่องการอนุรักษ์ผ้าไทย ก็ทรงศึกษาทั้งทฤษฎีและปฏิบัติอย่างถ่องแท้ ดังนั้นเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานผ้าไทยและเทรนด์แฟชั่นระดับโลก สองสิ่งดีที่อยู่ต่างเขตแดน อันจะเป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบ ช่างทอผ้า ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพทุกสาขาในการพัฒนา พร้อมผลักดันให้ผ้าทอไกลถึงระดับสากล
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จึงมีพระดำริให้จัดทำหนังสือ ‘Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022’ เป็นเล่มแรก โดยทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (Editor in Chief) และทรงมีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือตั้งแต่การพระราชทานแนวคิด จนถึงการเลือกภาพประกอบด้วยพระองค์เอง ซึ่งจัดทำต่อเนื่องมาถึงเล่มที่ 3 ‘Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023’

ด้วยพระเมตตาและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่มีพระทัยมุ่งมั่นทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่ออนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่น สู่รุ่น มิให้สูญหายไปจากแผ่นดิน ก่อให้เกิดเป็นโครงการต่าง ๆ และดำเนินการจนสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มั่นคง อันนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง.
READ MORE: