ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศริ้วที่ 6 ซึ่งเป็นริ้วสุดท้าย ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช เริ่มต้นในช่วง 17.45 น. ของวันที่ 29 ต.ค. 2560 อันเป็นการเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร นำโดยขบวนม้าที่มีพันโทหญิง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ เป็นผู้ทรงม้านำขบวน ตามด้วยรถยนต์พระที่นั่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประคองพระผอบ พระบรมราชสรีรางคารด้วยพระองค์เอง และตามด้วยรถยนต์พระที่นั่งทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ, คุณพลอยไพลิน เจนเซน และคุณสิริกิติยา เจนเซน โดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนอย่างช้าๆ ตามเส้นทางจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม – ประตูวิเศษไชยศรี – ถนนหน้าพระลาน – ถนนสนามไชย จนถึงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม



เมื่อถึงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ แล้ว เสด็จฯ ไปยังพระอุโบสถ ถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 และ พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 9 ที่ฐานพระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส



จากนั้นขบวนทหารม้านำและตามเสด็จฯ ไปยังวัดบวรนิเวศวิหารตามเส้นทาง ถนนอัษฎางค์ – ถนนสนามไชย – ถนนราชดำเนินกลาง – ถนนพระสุเมรุ – ท่ามกลางประชาชนที่มารอรับเสด็จ ด้วยความอาลัยรัก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธชินสีห์ ในพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคารที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ทรงวางพวงมาลา จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ที่จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติตลอด 5 วัน


พระบรมราชสรีรางคารจะมีการประมวลในพระผอบโลหะปิดทอง มีการออกแบบศึกษาจากพระผอบองค์เดิมนำมาประยุกต์ให้มีรูปทรงลวดลายชั้นเชิงต่างๆ ให้มีความงดงามสมพระเกียรติ ตัวผอบจะแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ ส่วนฐาน ส่วนตัวองค์ และส่วนฐาน ส่วนฐานของพระผอบจะมีชั้นหน้ากระดานบัวคว่ำรองรับชั้นลูกแก้วมีลวดและท้องไม้สลับคั่น สำหรับลวดลายลูกแก้วหรือว่าชั้นเกี้ยวนั้นจะออกแบบตามโบราณราชประเพณี ซึ่งเป็นเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในลวดลายประกอบพระมหาพิชัยราชรถด้วย ส่วนตัวพระผอบนั้นจะเป็นทรงดอกบัวบานทรงกลมมีกลับบัวขนาดเล็กรองรับสลับกันไปมา มีเส้นเดินรอบกลีบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ส่วนฝาของพระผอบพระบรมราชสรีรางคารนั้นจะเป็นลักษณะยอดทรงมัณฑ์เป็นชั้นหน้ากระดานและชั้นบัวคว่ำ 3 ชั้น ถัดจากพระกลีบบัวจะเป็นกลีบยอด และชั้นบนสุดจะเป็นลูกแก้วเม็ดน้ำค้างทรงกลม และส่วนปลายเรียวแหลมเป็นลักษณะของบัวตูม ในการจัดสร้างพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจะใช้วัสดุโลหะเนื้อเงินขึ้นรูปตามแบบช่างโบราณ

ส่วนถ้ำศิลา ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารโดยตรง ทำด้วยหินอ่อนสีขาว เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงสอบเข้าหากันทั้ง 4 มุม ส่วนฐานเป็นหน้ากระดานฐานสิงห์รองรับ แสดงถึงพระเกียรติยศที่สูงส่ง ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้รองรับชั้นบัวหงายมีเสารองรับทั้ง 4 มุม ภายในเดินด้วยเส้นรอบกรอบเป็นย่อมุม ตรงกลางเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภปร เหนือขึ้นไปเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นพระอุณาโลมเส้นรอบกรอบย่อมุมและพระปรมาภิไธยนี้จะปิดทองคำแท้ 100% ถัดขึ้นไปเป็นลวดขึ้นบัวหงาย ส่วนฝาเปิด-ปิดเป็นหน้ากระดานลาดบัวคว่ำและมีลวดซ้อนๆ ชั้น ขณะที่ขนาดของฐานพระถ้ำศิลาหินอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคารมีความกว้าง 24 ซ.ม. ยาว 24 ซ.ม. และสูง 21 ซ.ม.
