Home > Royalty > Thailand > เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จเยือนสกลนคร ทรงเยี่ยมชาวบ้านผู้ทอผ้าไทย ต่อยอดโครงการในพระดำริฯ

เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ ’36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ หมู่ที่ 2 ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
มเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทดลองทอผ้าด้วยพระองค์เอง

โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชานน วาสิกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พลตรี นรธิป โพยนอก ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 พันตำรวจเอก เทิดทูน สร้อยสุขพาพันธ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ เฝ้ารับเสด็จ

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
ทอดพระเนตรการเตรียมเนื้อครามและสาธิตวิธีการย้อมคราม

ภายหลังทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรการเตรียมเนื้อครามและสาธิตวิธีการย้อมครามที่อาคารเตรียมเนื้อคราม แล้วเสด็จเข้าอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โดยทรงทอดพระเนตร Live สด การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของบ้านดอนกอยโมเดล การสาธิตการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย นิทรรศการเกี่ยวกับภูมิปัญญาผ้า นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการประวัติความเป็นมาของ ‘ดอนกอยโมเดล’ และทอดพระเนตรการเตรียมเส้นใยการทอ และการแสดงพื้นถิ่นอำเภอพรรณานิคม

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
ทรงเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ผ้าทอของชาวสกลนคร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวทางพระดำริ จัดสร้าง ‘อาคารเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น’ เพื่อประกาศพระเกียรติคุณที่ทรงมีพระเมตตาต่อประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ชาวบ้านดอนกอย’ ที่ได้พระราชทานโครงการพระดำริแห่งแรก ‘ดอนกอยโมเดล’ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และสร้างคุณประโยชน์กับประชาชนอย่างอเนกอนันต์

ทรงแนะนำการออกแบบลวดลายใหม่ๆ

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนโครงการ ‘ดอนกอยโมเดล’ จากพระดำริฯ เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามที่กลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 โดยมีพระประสงค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านดอนกอยให้มีความทันสมัย ยกระดับภูมิปัญญาและชิ้นงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก เกิดเป็นรายได้และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น ยกระดับเป็น Premium OTOP เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

พร้อมบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยและผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงรวบรวมองค์ความรู้วัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า การย้อมคราม และการใช้สีธรรมชาติ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีความเป็นสากล โดยได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนามาจากลายดั้งเดิมของชุมชนบ้านดอนกอย ไปพัฒนาต่อยอดด้านการใช้สีธรรมชาติ

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
สีสันของเส้นด้ายที่ย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
ผืนผ้าทอลวดลายงดงามหลากหลาย

จนสามารถพัฒนาได้ถึง 10 โทนสี รวมทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านดอนกอย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับผ้าไทย ทำให้ผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ตามแนวพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ซึ่งในการพัฒนาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามพัฒนาให้กลายเป็นผ้าไทยที่ใส่สนุก มีลวดลายใหม่ๆ ดีไซน์ที่ทันสมัย ตามเทรนแฟชั่น

สำหรับศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ จะเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาเรื่องผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการทอผ้า และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงยังเป็นแบบอย่างในเรื่องของการพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก Bio-Circular-Green Economy : BCG สร้างความตระหนักให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งไปถึงผู้สวมใส่หากใช้สารเคมีในการย้อมผ้า

การดีไซน์ตัดเย็บชุดต่างๆ จากผ้าทอย้อมคราม

อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งตนเองได้ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยได้สนับสนุนให้คนในชุมชนปลูกพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ ดังพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” โดยกระทรวงมหาดไทยขอน้อมนำพระดำริในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้ และทรงงาน ณ ศูนย์แสดง จำหน่าย ออกแบบ ผลิตภัณฑ์ผ้าคราม ไหมย้อมคราม บ้านหนองแข้ หมู่ที่ 5 ตำบลตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนครด้วย

ทรงทดลองสาวไหม ที่พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้
ฉลองพระองค์ไหมมัดหมี่ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 
ที่พระราชทานแก่ป้าทุ้มและป้าไท้ ไว้เป็นแบบอย่าง
ทอดพระเนตรการมัดลายหมี่
ฉายพระรูปร่วมกับทายาทของป้าทุ่มและป้าไท้

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้ และทอดพระเนตรการจัดแสดงฉลองพระองค์ไหมมัดหมี่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และผ้าทอโบราณลายต่าง ๆ ได้แก่ ผ้าลายโบราณเครือสองข้อ ผ้าลายดางแห ผ้าลายใยแมงมุมเล็ก ผ้าลายหมากจับตุ้ม ผ้าลายไอ่คำ ผ้าลายโคมห้าผสมกระจับ ผ้าลายต้มหวี ผ้าลายใยแมงมุมใหญ่ ผ้าลายนกนางแอ่น ผ้าลายตุ้มป่องตุ้มตัน

ทรงงานเกี่ยวกับผ้าไทยและงานฝีมือที่ชาวบ้านนำมาถวาย เพื่อขอพระราชทานคำแนะนำ
เครื่องปั้นเซรามิกวาดลาย อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ของชาวสกลนคร

พร้อมทั้งทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ของกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP รวมทั้งสิ้น 22 กลุ่ม ก่อนเสด็จทรงงานเกี่ยวกับผ้าไทยและงานฝีมือที่ชาวบ้าน นำมาเข้าเฝ้า เพื่อขอพระราชทานคำแนะนำต่างๆ

ทรงปรบพระหัตถ์ชื่นชมการแสดงพื้นบ้าน ชุด ‘มนต์เสน่ห์ภูไท’
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

ปัจจุบัน ‘กระทรวงมหาดไทย‘ ได้น้อมนำแนวพระดำริการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืนของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงริเริ่ม ณ บ้านดอนกอย มาขับเคลื่อนในปี 2566 ใน 76 จังหวัด ตำบลละ 1 หมู่บ้าน รวม 7,255 หมู่บ้าน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ดูแลครอบครัว ดูแลหมู่บ้าน จนเป็นหมู่บ้านยั่งยืน เฉกเช่น บ้านดอนกอย อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566 เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.