Home > Royalty > พระบรมราชสรีรางคาร ความผูกพันของพระอารามหลวง และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
ในการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปประดิษฐาน  ณ ถ้ำศิลาที่ฐานพุทธบัลลังก์พระอังคีรส พระอุโบสถวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม และ ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร จะมีการประมวลในผอบโลหะปิดทอง  มีการเตรียมไว้สององค์  ตามพระราชพิธีโบราณสื่อถึงความผูกพันของพระมหากษัตริย์และพระพุทธศาสนา  ที่มีต่อกันมาช้านาน  สำหรับ ‘รัชกาลที่ 9’  ทรงมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับพระอารามหลวงทั้งสองแห่งนี้ตลอดพระชนมชีพ

วัดบวรนิเวศวิหาร

'รัชกาลที่ 9'

วัดบวรนิเวศวิหารที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ‘รัชกาลที่ 9’ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้น เพื่อปลงศพเจ้าจอมมารดา (น้อย) ของพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชชายา ระหว่าง พ.ศ. 2367 และ พ.ศ. 2375 โดยหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาบรรจุไว้ ณ ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

ในเวลาต่อมา วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหารเป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของคณะสงฆ์คือ เป็นที่กำเนิดมหามกุฎราชวิทยาลัย สถานศึกษา สำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่ง แรกของไทยในปัจจุบัน เป็นที่กำเนิดการศึกษาพระปริยัติ ธรรมแผนกธรรมที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘นักธรรม’ อันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ไทย วัดบวรนิเวศวิหาร

เหตุนี้วัดบวรนิเวศวิหาร จึงเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงพระผนวชทุกพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงพระผนวชเกือบทุกพระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

'รัชกาลที่ 9'

ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระผนวชในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 มีพระราชดำริที่จะเสด็จฯ ออกทรงพระผนวช ใจความสำคัญว่า  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย อีกทั้งทรงศรัทธาเชื่อมั่นว่าเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องด้วยในบรรดาสัจธรรมคำสอนอันชอบด้วยเหตุผล  และเคยมีพระราชดำริอยู่ว่า หากโอกาสอำนวยก็ควรจักได้ออกทรงพระผนวชในระยะเวลาหนึ่งตามพระราชประเพณี ซึ่งจักเป็นการสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมด้วย

ทรงประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระอุโบสถไปประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงรับอุปสมบทดำรงภิกษุภาวะโดยสมบูรณ์  สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ถวายพระสมณนามว่า ‘ภูมิพโล’  จากนั้นทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะภิกษุภาวะ ทรงจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงปฏิบัติพระศาสนกิจ ศึกษาสมณธรรมเป็นเวลา 15 วัน หลังจากทรงพระผนวชได้เสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดบวรนิเวศวิหาร และเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเป็นการส่วนพระองค์อีกประมาณ  250 ครั้ง

'รัชกาลที่ 9'

วัดบวรนิเวศวิหารมีพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ‘รัชกาลที่ 9’ ได้แก่ พระพุทธสยามาภิวัฒนบพิตร ภูมิพลนริศทสสหัส สทิวัสรัชการี ปัณณาสวรรษศรีอุภัย มหามงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อในลีลาปาง ห้ามแก่นจันทน์ขนาดเท่าพระองค์ (172เซนติเมตร) เมื่อ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีเบื้อง พระหัตถ์ขวาพระพุทธชินสีห์ภายในพระอุโบสถ และพระพุทธวิโลกนญาณบพิตร สิริกิติธรรมโสตถิมงคล ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เคยให้หล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร (ปางรำพึง) ขนาดเท่าพระองค์ขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ไว้บนฐานชุกชีเบื้องพระหัตถ์ซ้ายพระพุทธชินสีห์ภาย ในพระอุโบสถ

 

 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  

'รัชกาลที่ 9'

มีความหมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง  โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาล และเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของเจ้านายในราชตระกูล ภายในวัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง พระอุโบสถภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทยแท้ ประกอบด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพประนม ภายในเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิก ภายในประดิษฐาน พระพุทธอังคีรส ซึ่งฐานบัลลังก์บรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7  นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราช ประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล  ปัจจุบันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามยังมีสุสานหลวงตั้ง อยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัดด้านติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรส และพระราชธิดาในพระองค์ รูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม และแบบโกธิก โดยตั้งในสวนที่มีพรรณไม้ต่างๆ งดงาม

'รัชกาลที่ 9'

การอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานที่ใต้ฐานพระพุทธรูป จะถูกประมวลไว้ในพระถ้ำศิลาอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคาร เป็นสถานที่สำคัญในการบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ‘รัชกาลที่ 9’ โดยกรมศิลปากรมอบหมายให้ นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ

สำหรับรูปแบบของพระถ้ำศิลาอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคาร มีแนวคิดมาจากรูปทรงตู้พระคัมภีร์แบบโบราณผสานกับหีบพระปาฏิโมกข์มาประยุกต์อย่างลงตัว  เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9  มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงสอบเข้าหากันทั้ง 4 มุม ส่วนฐานเป็นหน้ากระดานฐานสิงห์รองรับ แสดงถึงพระเกียรติยศสูงสุด ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้รองรับชั้นบัวหงายมีเสารองรับทั้ง 4 มุม ภายในเดินด้วยเส้นรอบกรอบเป็นย่อมุม ตรงกลางเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภปร เหนือขึ้นไปเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นพระอุณาโลมเส้นรอบกรอบย่อมุมและพระปรมาภิไธยนี้จะปิดทองคำแท้ ถัดขึ้นไปเป็นลวดขึ้นบัวหงาย ส่วนฝาเปิด – ปิด เป็นหน้ากระดานลาดบัวคว่ำและมีลวดซ้อนๆ ชั้น ขณะที่ขนาดของฐานพระถ้ำศิลาหินอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคารมีความกว้าง 24 เซนติเมตร ยาว 24 เซนติเมตรและสูง 21 เซนติเมตร จำนวน 2 องค์

………………

ภาพ: วัดบวรนิเวศวิหาร ,วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 

 

Tags
royalty
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.