พระเมรุมาศและพระเมรุ เป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวหรือเฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ ใจกลางเมือง พระเมรุหมายถึง ภูเขาใหญ่ ซึ่งก็คือเขาพระสุเมรุหรือเขาสัตตบริภัณฑ์ อันประกอบด้วย เขายุคลธร เขาอิสินธร เขากรวิก เขาสุทัศนะ เขาเมนิธร เขาวนิตกะ และเขาอัสกัน ตามความเชื่อในโลกสัณฐานที่ถ่ายทอดจากพระคัมภีร์พระพุทธศาสนา การสร้างพระเมรุมาศก็คือ การจำลองเขาพระสุเมรุอันเป็นภพภูสวรรค์
พระเมรุมาศคือการคลุมทับพระเมรุทองที่อยู่ภายใน ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหาษัตริย์ พระอัครมเหสี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า และพระยุพราช เป็นต้น โดยงานพระเมรุมาศในสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรกนับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 และช่วงที่ 2 คือรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยลักษณะของพระเมรุมาศที่เคยสร้างมามีรอยู่ 2 แบบ คือ พระเมรุมาศทรงปราสาท และพระเมรุมาศทรงบุษบก
พระเมรุมาศทรงปราสาทสืบทอดรูปแบบจากสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นอาคารที่มีรูปลักษณ์อย่างปราสาท โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่มีการจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างเต็มรูปแบบตามโบราณราชประเพณี สูงถึง 100 เมตร ซึ่งใช้เวลาในการสร้างตั้งแต่พระองค์สวรรคต พ.ศ. 2411 แต่สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2413 เพราะต้องเกณฑ์ไม้จากหัวเมืองทั้งหลาย คัดเอาแต่ต้นที่มีขนาดใหญ่สูงตามต้องการ แล้วชักลากออกจากป่า ล่องมาตามแม่น้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำถวายพระบรมราชชนก แต่ทรงเห็นถึงความยากลำบากของพระเมรุแบบนี้ จึงทรงให้งดธรรมเนียมการสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่เช่นนี้ตั้งแต่งานพระบรมศพพระองค์เอง
พระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำถวายสมเด็จพระบรมราชชนก เป็นพระเมรุมาศขนาดใหญ่ตามแบบโบราณองค์สุดท้าย มีความสูงกว่าร้อยเมตร
พระเมรุมาศทรงบุษบก คือพระเมรุมาศที่สร้างบนพื้นราบ ดัดแปลงอาคารทรงปราสาทเป็นเรือนบุษบก ขยายพระเมรุทองในปราสาทที่เป็นเรือนบุษบกบัลลังก์ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิง ตั้งเบญจาพระจิตกาธานรับพระโกศพระบรมศพ รูปแบบที่ใช้กันจนถึงปัจจุบัน มีใช้เป็นครั้งแรกในงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีพระราชดำริตั้งแต่ยังมีพระชนมชีพว่า พระราชพิธีพระบรมศพแบบโบราณนั้นยังทำความเดือดร้อนแก่พสกนิกรจึงทรงให้ยกเลิก ดังนั้นเมื่อสวรรคต องค์รัชทายาท ก็คือ รัชกาลที่ 6 จึงสนองพระราชดำริของพระบรมราชชนกได้ลดทอนการก่อสร้างลง แต่ยังคงไว้ซึ่งพระเกียรติยศ และปรับให้เข้าแก่กาลสมัย อันเป็นหลักยึดสืบมาจนถึงทุกวันนี้

พระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเมรุมาศทรงมณฑปแวดล้อมด้วยเมรุมาศทั้ง 4

พระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ

พระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

พระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
……………………………………………………………………………….
Cr. จากหนังสือเฉลิมพระกัลยาณเกียรติ ธงทอง จันทรางศุ และ Charnnarong Porndilokrat