Home > Royalty > งานประณีตศิลป์ พระโกศ 9 เหลี่ยม ทรงพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 9

พระโกศพระบรมอัฐิ คือ พระโกศสำหรับบรรจุ พระบรมอัฐิของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินีหรือพระ ประยูรวงศ์มาแต่อดีตมักสร้างด้วยโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน หรือโลหะอื่นแล้วกะไหล่ด้วยทองประดับอัญมณีหรือรัตนชาติเพื่อให้สวยงามสมพระเกียรติ มีลักษณะรูปทรงกระบอก ประกอบด้วยส่วนฐาน ส่วนตัวพระโกศ ปากพระโกศลักษณะผาย และฝาสำหรับหรับปิดส่วนบน รูปทรงโดยรวมอาจเป็น แปดเหลี่ยมหรือทรงกลมแล้วแต่ความเหมาะสม ถ้าเป็น ระดับสูงมักมียอดทรงมงกุฎ ประดับด้วยพุ่ม หรือฉัตรตาม ฐานันดรศักดิ์ ประดับตกแต่งให้งดงามสมพระเกียรติด้วย ดอกไม้เอวที่ส่วนฐาน ดอกไม้เพชร หรือดอกไม้ไหวที่ส่วนฝาและเฟื่องพู่ระย้าที่ปากฝาพระโกศ ภายในบรรจุพระโกศ ศิลาซึ่งทำด้วยศิลาสีขาวเป็นทรงกระบอกมีฝาเช่นเดียวกัน เพื่อใช้บรรจุพระบรมอัฐิ โดยพระโกศศิลาจะอยู่ชั้นในรอง จากพระโกศทองด้านนอก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บพระบรมอัฐิลงในพระบรมโกศ

เจ้าพนักงานอัญเชิญพระบรมโกศ ทรงพระอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทมหาภูมิพลอดุลยเดช ประดิษฐานที่บุษบกแว่นฟ้า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

งานสร้างพระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ พระโกศพระบรมอัฐิ ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระโกศ พระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระโกศพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระโกศพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี รวมทั้งหมด 6 พระโกศ

สำหรับพระโกศทรงพระบรมอัฐิจะนำไปประดิษฐานบน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นครั้งแรกที่สร้างพระโกศทองคำลงยาทรง 9 เหลี่ยม ประดับเพชรเจียระไนสีขาว รวมทั้งสิ้น 5,368 เม็ด ฝาพระโกศเป็นทรงมกุฎเกี้ยวมาลัยทอง ส่วนยอดเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์และเศวตฉัตรคือนพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น เครื่องประดับพระโกศได้แก่ ดอกไม้เอว ดอกไม้ไหว เฟื่องอุบะ และดอกไม้ที่ทำจากเงินบริสุทธิ์ ประดับรัตนชาติ ส่วนยาสีที่ใช้ได้แก่สีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำพระประชนมวาร สีแดงคือสีแห่งพลังความเข้มแข็งและการหล่อหลอมดวงใจของคนในชาติ และสีเขียวแทนความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของประเทศด้วยพระเมตตาบารมีของพระองค์ ออกแบบโดย นายอำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

พระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่เชิญออกมาประดิษฐาน ณ พระแท่นมหาเศวตฉัตร ในการพระราชกุศลพระบรมอัฐิ 28 ต.ค. 2560

พระโกศทรงพระบรมอัฐิ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริโสภาพรรณวดี เป็นพระโกศทองคำลงยาประดับพลอยทรงแปดเหลี่ยมปากผาย ส่วนฝาพระโกศนั้นเป็นยอดมหามงกุฎแปดเหลี่ยมเช่นกัน ออกแบบโดย นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปกร

พระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระโกศทองคำลงยาประดับพลอยแปดเหลี่ยม ออกแบบโดย นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ใช้แนวคิดเกี่ยวกับพระโกศจันทน์ก็คือพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนสีจะลงยาสีขาวเหลืองสีพระประจำพระชนวาร สีเขียวเป็นสีของเดชพระบรมรัตนราชสมภพ สีชมพูก็คือความเป็นมงคล และสีน้ำเงินคือสีของน้ำและพระมหากษัตริย์

ในการจัดสร้างพระโกศทองคำลงยา อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีการรวบรวมช่างฝีมืองานประณีตไทย งานประณีตศิลป์ มีการจัดสร้างพระโกศงดงามสมพระเกียรติยศสูงสุด โดยผู้ออกแบบนั้นได้ยึดตามโบราณราชประเพณีเป็นหลัก แต่จะสอดแทรกรายละเอียดหลายอย่างที่จะสื่อถึงพระองค์โดยเฉพาะพระโกศที่ออกแบบให้เป็นทรงเก้าเหลี่ยมสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศที่เป็นทรงบุษบก 9 ยอด ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมราโชวาทหลักๆ ดั่งเช่นความเพียร ความซื่อสัตย์ ความพอเพียง การจัดทำรูปทรงเก้าเหลี่ยมเปรียบเหมือนพระเมรุมาศเป็นทรงบุษบก 9 ยอด แสดงถึงความรำลึกถึงพระองค์โดยเฉพาะพระบรมราโชวาทต่างๆ สรุปรวบรวมคำสอนมาถึงเรื่องความเพียร ความซื่อสัตย์ที่อยู่ในใจ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้คนไทยนำมาใช้ทำให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัย

พระโกศทองคำทรงพระบรมอัฐิจัดสร้างด้วยลายไทยหลักๆ คือ ลายกระจังประดับพระองค์ แบ่งเป็น 5 ส่วน เริ่มจากส่วนฐานเป็นสัญลักษณ์ถึงพระโกศเป็นของพระมหากษัตริย์มีลายฐานสิงห์ หน้ากระดาน และบัวปากฐาน ต่อมาเป็นส่วนองค์มีลักษณะเป็นทรงกระบอกปากผายเป็นลายบัวจงกล ตรงกลางด้านหน้าจารึกพระปรมาภิไธย ภปร มี 4 ชั้นประดับลวดลายรักร้อยและกระจังประดับเพชร ถัดมาเป็นส่วนฝามียอดเป็นทรงมงกุฎหรือชั้นเกี้ยว หรือทรงจอมแห่แต่ละชั้นประดับลายบัวถลาและลายกระจัง จากนั้นเป็นส่วนยอดจัดทำเป็นสองลักษณะคือยอดพุ่มข้าวบิณฑ์โลหะเงินและยอดสุวรรณฉัตรเก้าชั้นเป็นสีทองลายกรวยเชิงประดับเพชร มีกระจังเข็มขัดล้อมจนถึงยอด รองรับพระราชพิธีสำคัญ 2 ลักษณะ หากอัญเชิญพระโกศจากพระเมรุมาศมาประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ด้วยพระที่นั่งราเชนทรยานจะใช้ยอดสุวรรณฉัตร กระทั่งอัญเชิญมาประดิษฐานยังพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จะทำการเปลี่ยนฉัตรเป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ โดยจะมีแท่นไม้รองรับการสลับเปลี่ยน

พระบรมวงศานุวงศ์ถวายความเคารพพระบรมโกศทรงพระบรมอัฐิ

สำหรับการเก็บพระบรมอัฐิจะเลือกเก็บแต่ละส่วนของพระสรีระเพียงเล็กน้อย พร้อมกันนั้นจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตขึ้นรับพระราชทานพระบรมอัฐิไปสักการบูชา ตามประเพณีหลังจากเสร็จสิ้นงานถวายพระเพลิง พระบรมศพ พระราชทานพระเพลิงพระศพ หรือเผาศพแล้ว จะมีการเก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ หรืออัฐิ และพระบรมราช สรีรางคาร พระสรีรางคาร หรือเถ้ากระดูกนำไปบำเพ็ญพระราชกุศลอีกครั้งหนึ่งก่อนจะนำไปเก็บรักษาบูชา ณ สถานที่ อันสมควร เพื่อแสดงความเคารพ ความอาลัยและความ กตัญญู สำหรับพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร หรือเถ้ากระดูกส่วนที่เหลือ มักนำไปลอยในแม่น้ำตามคติความเชื่อลัทธิฝ่ายพราหมณ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการล้างบาปแก่ผู้วายชนม์ และเพื่อให้ได้ไปสู่ สรวงสวรรค์

…………………………..

ภาพ: สำนักพระราชวัง,ศูนย์ข่าวสารพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

Tags
royalty
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.