แม้ตอนนี้คนทั่วไปจะมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับนโยบายของชาติ โดยลืมนึกไปว่า การแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องรอให้ทางการลงมาแก้ไขเพียงฝ่ายเดียว แต่เราสามารถช่วยกันคนละไม้ละมือ ด้วยการ ลดใช้ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
กลุ่ม Less Plastic Thailand จึงถือกำเนิดขึ้น นำโดยคุณแป้น-สมรมิตต์ ล่ำซำ ผู้เริ่มจากการแยกขยะในบ้าน แต่เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวกับการแยกขยะของไทยมีอยู่น้อยมาก เธอจึงติดต่อขอข้อมูลจากโครงการ Chula Zero Waste พบว่าไมโครพลาสติกเป็นปัญหา Plastic Pollution ที่น่ากลัวมาก เพราะขณะนี้พลาสติกได้ปนเปื้อนเข้าไปในอาหารและน้ำแล้ว

ภายหลังเธอร่วมกับคุณป๊อป-เมธา เสนทอง ผู้ชำนาญด้าน Zero Waste รับแยกขยะในอีเวนต์ต่างๆ เริ่มจากงานรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับประเทศที่ทั่วโลกจับตามอง สามารถลดขยะฝังกลบได้ถึง 1,316 กิโลกรัม เท่ากับลดก๊าซเรือนกระจกได้ 2,697 kg Co2 emission
จากนั้นทางกลุ่มยังได้งานจากคุณฮาราลด์ ลิงค์ เช่นงาน Princess Cup งานปีใหม่ บี.กริม งาน Thai Polo Pattaya และตำหนักบ้านปลายเนิน แต่ในที่สุดการพัฒนา Green Event ของกลุ่มก็ไม่เติบโต เพราะเจ้าของงานมักบ่นว่า การแยกขยะมีค่าใช้จ่ายสูง
แปรรูปขยะให้เป็นประโยชน์
ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรหลายแห่งที่รับขยะชนิดต่างๆไปทำประโยชน์ เช่น ขวดน้ำพลาสติกใสที่ลอกฉลาก ถอดฝาออก บีบให้แบน สามารถนำไปผลิตขวดใหม่ หรือทำเป็นผ้าใยสังเคราะห์ ส่วนกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ ให้ตัด ล้างสะอาด ตากให้แห้ง แล้วส่งจุดรับบริจาคที่ Big C เพื่อร่วมโครงการ ‘หลังคาเขียว’

ฝาห่วงกระป๋องอะลูมิเนียม ส่งไปที่กรมควบคุมมลพิษ เพื่อทำขาเทียม พลาสติกยืดส่งโครงการ ‘วน’ หรือฝากกับจุดรับของโครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ ส่วนขยะ Mixed Material และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอื่นๆ เช่น ซองขนม ถุงรีฟิลที่ไม่สามารถใช้ซ้ำ สามารถส่งไปที่ N15 Technology ชลบุรี เพราะขยะพลาสติกทำจากน้ำมันดิบ มีค่าความร้อนสูง เอาไปเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) ได้
สำหรับการแก้ปัญหาขยะเศษอาหาร คุณแป้นพาเราไปชมมุมหมักขยะอินทรีย์ที่ปราศจากกลิ่น ปลอดแมลง ไม่มีหนอน เคล็ดลับสำคัญคือ เศษอาหารก้านผักต้องกรองน้ำให้แห้ง และต้องสับผสมกับปุ๋ยหมักตั้งต้น ก่อนใส่ไปในกระถางดินเผาของ ‘ผักDone’ เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ กลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นหนึ่งที่ไร้สารเคมี ไว้ใช้ในสวน ส่วนเปลือกผลไม้นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ
ภารกิจที่ไม่มีวันสุดสิ้น
แม้การรณรงค์เรื่องแยกขยะอาจต้องใช้เวลาปรับทัศนคตินานชั่วรุ่น แต่กลุ่ม Less Plastic Thailand ก็ยังยินดีทำ คุณแป้นจึงเลือกที่จะปลูกจิตสำนึกนี้ในเด็ก

“แต่ก่อนเด็กไทยจะถูกสอนให้มีความนอบน้อม และทิ้งขยะให้ลงถัง แต่ไม่เคยถูกสอนว่า ต้องแยกขยะ แป้นจึงอยากร่วมมือกับโรงเรียนมากกว่า เพราะเด็กสอนง่าย ตอนนี้เราเริ่มทำกับโรงเรียนนานาชาติ เช่น Bangkok Patana, Shrewsbury International School และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ที่เชียงใหม่”
คุณป๊อปเสริมว่า “เราแค่อยากให้ทุกคนเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตทีละนิด ยังไม่ต้องบังคับตัวเองมาก ลองทำเท่าที่ทำได้ และมีทางเลือกอีกหลายทางที่เหมาะกับเรา สามารถเข้าไปดูใน www.lessplastic.info ได้เลยครับ”
แม้ในตอนนี้อาจดูเหมือนว่า การแยกขยะเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่หากเราช่วยกัน ปัญหาใหญ่จะค่อยๆถูกลดทอนลงเป็นปัญหาเล็กอย่างแน่นอน เราเชื่ออย่างนั้น
Photo: Less Plastic Thailand