“นาฬิกาไม่ใช่แค่เครื่องบอกเวลา แต่มีคุณค่ามากกว่านั้น เป็นของสะสม เป็นทรัพย์สิน และเป็นคุณค่าทางใจ” ใครสักคนกล่าวไว้เช่นนั้น นาฬิกายอดนิยมในอดีตมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่การได้มาไว้ในคอลเล็คชั่นส่วนตัวเป็นเรื่องยากยิ่ง HELLO! จึงนำผลงาน นาฬิการุ่นปีปัจจุบัน ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันมาฝาก ผลงานที่มีคุณค่าจากแนวคิด คุณสมบัติของนาฬิกา เรื่องราวเบื้องหลังที่จะทำให้บทสนทนามีสีสัน รวมไปถึงอนาคตในอีกทศวรรษหน้าที่อาจมีราคาสูงขึ้น เมื่อความต้องการสูงกว่าปริมาณที่ผลิตได้ การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ แต่ความหลงใหลจะคงอยู่และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้เช่นกัน

Rolex GMT-Master II
นาฬิกาที่เหมาะสำหรับนักเดินทางและเป็นคอลเลคชั่นยอดนิยมเสมอสำหรับ Rolex GMT-Master II ทุกครั้งที่เปิดตัวก็มักจะมาพร้อมกับชื่อเล่นในกลุ่มนักสะสมนาฬิกา ไม่ว่าจะเป็นเป๊บซี่หรือแบทแมน ซึ่งมาจากขอบตัวเรือนสองโทนสีที่แบ่งตามการแสดงเวลากลางวันและกลางคืนนั่นเอง ผลงานรุ่นปัจจุบันที่ตามมากันพอสมควรก็คือ Rolex GMT-Master II ปี 2018 กับขอบตัวเรือน Cerachrom ผลิตจากเซรามิกที่แข็งเป็นพิเศษด้วยกระบวนการพัฒนาชั้นเลิศโดย Rolex ที่ถูกเรียกขานว่ารุ่น เป๊บซี่ จากขอบตัวเรือนสีน้ำเงินและแดง และมาพร้อมสายจูบิลี่เป็นครั้งแรก ส่วนกลไกขึ้นลานอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 3285 ที่ได้รับการพัฒนาและผลิตขึ้นโดย Rolex เพียงผู้เดียว คุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งเที่ยงตรงและทนทาน สำรองพลังงานได้นานถึง 70 ชั่วโมง

Patek Philippe Ref. 5520P-001 Alarm Travel Time
ปี 2015 Patek Philippe หยิบแรงบันดาลใจจากนาฬิกาต้นแบบในอดีตมาผลิตเป็นผลงานนาฬิกานักบินรุ่นแรกของแบรนด์ บางคนหลงรักในทันที แต่บางคนก็ยังไม่ค่อยคุ้นเคย ในที่สุดเวลาก็พิสูจน์ว่านาฬิกาเพื่อนักเดินทางสไตล์นักบินของแบรนด์ประสบความสำเร็จจากความนิยมอย่างสูงและพัฒนาต่อมาหลายรุ่น จนถึงผลงานรุ่นล่าสุดที่ทั้งเท่ในความคลาสสิกและเปี่ยมคุณภาพเป็นที่สุดในรุ่น Ref. 5520P-001 Alarm Travel Time ผลงานจากปี 2019 ที่รวมฟังก์ชันแสดงเวลาสองไทม์โซนของ Travel Time เข้ากับระบบตั้งปลุกแบบ Alarm นวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาการปลุกด้วยระบบตีบอกเวลาด้วยเสียงแบบมินิท รีพีทเตอร์ ที่สุดแห่งกลไกเสียง ทั้งยังเป็นนาฬิการุ่นแรกในตระกูลนาฬิกากลไกเสียงของแบรนด์ที่สามารถกันน้ำได้ 30 เมตรด้วย

Lange & Söhne Lange 1 ‘25th Anniversary’
เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่นักสะสมทั่วโลกต้องมีในกรุสะสมส่วนตัว และผลงานยอดนิยมก็ยังคงเป็นคอลเลคชั่น Lange 1 ที่ทำให้แบรนด์ A. Lange & Söhne ฟื้นคืนชีพจากสงครามโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยแนวคิดการออกแบบที่ไม่ธรรมดา จุดเริ่มต้นด้านคุณภาพของเทคนิคกลไกจักรกลที่ยอดเยี่ยม มาพร้อมนวัตกรรมของตลับลานคู่ที่ทำให้สำรองพลังงานได้นานขึ้น ผสานรวมกับนวัตกรรมด้านดีไซน์ใหม่สำหรับยุคกลางทศวรรษ 1990 ทั้งดีไซน์บนพื้นหน้าปัดแบบอสมมาตรของวงหน้าปัดย่อยต่างขนาดที่แสดงเวลาแบบเยื้องศูนย์ กับช่องหน้าต่างแสดงวันที่ขนาดใหญ่ Outsize Date ชื่อเฉพาะของฟังก์ชัน และมาตรวัดพลังงานสำรอง ที่ดูเหมือนไม่ลงตัว แต่แฝงความสมดุลไว้อย่างเฉียบคม ปีก่อนเปิดตัวผลงารุ่นแรกออกมาฉลองครบรอบ 25 ปีของคอลเลคชั่นในแบบ Hunter Case ที่มีฝาปิดด้านหลัง ของ Lange 1 ‘25th Anniversary’ Edition ตัวเรือนทองคำขาว 18k ผลิตจำกัดเพียง 250 เรือน ใครได้เรือนนี้มาเก็บในคลังสะสม ถือว่าเป็นหนึ่งในเรือนสุดยอดของปีที่รับรองว่าไม่ผิดหวังในการเก็บอย่างแน่นอน

Audemars Piguet Royal Oak “Jumbo” Extra-thin
สำหรับ Audemars Piguet ถ้าพูดถึงคอลเลคชั่นยอดนิยมในกลุ่มนักสะสมนาฬิกาก็คงหนีไม่พ้น Royal Oak โดยเฉพาะรุ่นตัวเรือนสเตนเลสสตีลหายากยิ่ง แต่ผลงานรุ่นใหม่ปีที่แล้วก็มาแรงไม่แพ้กัน และเป็นหนึ่งในรุ่นที่น่าสะสมอย่างยิ่งก็คือ Royal Oak “Jumbo” Extra-thin ผลงานที่เด่นด้วยดีไซน์เอกลักษณ์ของ Royal Oak ว่ากันว่ามาจากกรอบหน้าต่างเรือดำน้ำ รุ่นนี้ตัวเรือนขนาด 39.0 มิลลิเมตร เล็กกว่า Royal Oak รุ่นปกติราว 2 มิลลิเมตร แต่ก็ลงตัวสวยทีเดียว แถมยังมาพร้อมความบางพิเศษจากชุดกลไกอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 2121 บางเฉียบเพียง 3.05 มิลลิเมตร หน้าปัดได้แรงบันดาลใจจากรุ่นในอดีตในโทนสีทองคำชมพู ลาย Petite Tapisserie แบบเดียวกับรุ่นฉลองครบรอบ 20 ปีในปี 1992 ตัวเรือนเป็นทองคำขาว 18k รุ่นนี้ยังคว้ารางวัล GPHG ที่เปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของวงการนาฬิกาโลก ในหมวดนาฬิกา Iconic Watch ที่ตัดสินจากผลงานซึ่งนำรุ่นในอดีตหวนกลับมาผลิตใหม่ด้วย

TAG Heuer Carrera 160 Years Silver Limited Edition
เป็นผลงานใหม่ล่าสุดของ TAG Heuer ที่ควรจะมีไว้เป็นหนึ่งในเรือนสะสม ทั้งคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์สำคัญกับการฉลองครบรอบ 160 ปีในปี 2020 ความคลาสสิกจากการนำดีไซน์ของ Carrera รุ่น 2447S (S หมายถึง Silver) รุ่นดังในอดีตกลับมาผลิตเป็นรุ่นใหม่ และมีจำกัดเพียง 1,860 เรือน โดยรุ่นต้นแบบมีขนาดตัวเรือน 36.0 มิลลิเมตร อาจดูเล็กสำหรับข้อมือผู้ชาย แต่เป็นไซส์ปกติสำหรับปี 1964 เมื่อนำมาผลิตใหม่ TAG Heuer จึงขยับขนาดตัวเรือนให้เหมาะกับยุคปัจจุบันที่ 39.0 มิลลิเมตร และใช้กลไกพัฒนาชุดใหม่อย่าง คาลิเบอร์ 02 เป็นขุมพลัง เรียกได้ว่าเป็นการผสานความเก่าและใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว และแทนที่สารเรืองแสงแบบทริเทียมที่เป็นอันตรายในระยะยาวด้วยสารเรืองแสงลูมิโนว่าที่มีคุณภาพดีกว่าและปลอดภัยกว่า หน้าปัดยังคงเอกลักษณ์ของวงหน้าปัดย่อย 3 ตำแหน่งคลาสสิก แต่ปรับขนาดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รุ่นนี้เปิดตัวมาด้วยราคา 6,450 เหรียญสหรัฐฯ

Bvlgari Octo Finissimo
นาฬิกาคอลเลคชั่น Octo Finissimo มีอะไรที่มากกว่าความเป็นเครื่องบอกเวลา ทั้งความเป็นส่วนผสมของสองแบรนด์ ทั้ง Bvlgari กับ Gérald Genta สุดยอดแบรนด์นาฬิกาที่เด่นทั้งดีไซน์และกลไกจักรกลชั้นยอด ซึ่ง Bvlgari ซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี 2000 และควบตำแหน่ง “ที่สุดในโลก” ตลอด 5 รุ่นที่ผ่านมา รวมถึงรุ่นล่าสุดอย่าง Octo Finissimo Automatic in Black Sandblast-Polished Ceramic สานต่อผลงานรุ่นแรกในปี 2017 กับตำแหน่งนาฬิกาอัตโนมัติบางที่สุดในโลก ด้วยความบางเพียง 5.50 มิลลิเมตร ในโหมดเรือนดำสนิท ทั้งตัวเรือนเซรามิกสีดำขัดเงาและปัดด้าน พื้นหน้าปัดเซรามิกดำ และสายเซรามิกปัดด้านขัดเงาดำ ดำไปจนถึงบานพับล็อกสาย ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ คาลิเบอร์ BVL 138 ที่ขึ้นลานด้วยไมโครโรเตอร์ขนาดเล็กผลิตจากแพลทินัมน้ำหนักดี เรือนนี้ถือว่าคุ้มทั้งความเป็นอมตะในเชิงดีไซน์ ความท้าทายในการออกแบบด้วยความบางพิเศษ และความแกร่งทนในเชิงวัสดุศาสตร์ของเซรามิกที่ทนต่อการขีดข่วนได้ดีเยี่ยม ไม่ต้องห่วงจะเกิดรอยขนแมวให้รำคาญใจในระยะยาว

Omega Speedmaster 50th Anniversary of Apollo 11 Mission
คนที่ชอบนาฬิกาแนวสปอร์ตและถวิลหาความอัศจรรย์ของอวกาศนอกโลก Omega Speedmaster น่าจะเป็นตัวเลือกตอบโจทย์ได้ดีที่สุด ด้วยความเป็นนาฬิกา ‘Moon Watch’ ที่มีโอกาสร่วมภารกิจพิชิตดวงจันทร์และดีไซน์คลาสสิกที่เป็นอมตะ แต่ถ้าพูดถึงเรือนที่น่าสะสมและควรมีไว้ในกรุสมบัติส่วนตัวก็น่าจะเป็น Omega Speedmaster 50th Anniversary of Apollo 11 Mission ผลงานที่ผลิตเพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของการเหยียบดวงจันทร์ที่เปิดตัวเมื่อปีก่อน งานประณีตและพิเศษในรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลข 11 ที่สื่อถึงยานอพอลโล 11 ภาพแกะสลักด้วยเลเซอร์ของ บัซ อัลดริน ขณะไต่ลงจากยานอวกาศเพื่อลงเหยียบพื้นดวงจันทร์บนหน้าปัดย่อยที่ 9 นาฬิกา และรอยเท้าของนักบินอวกาศที่ซ่อนอยู่ใต้กระจกคริสตัลแซฟไฟร์ชัดตากับประโยคของ นีล อาร์มสตรองที่ว่า ““THAT’S ONE SMALL STEP FOR A MAN, ONE GIANT LEAP FOR MANKIND” และ APOLLO 11, 50th ANNIVERSARY, LIMITED EDITION รวมทั้งการใช้ทองคำสูตรเฉพาะของ Omega อย่าง 8K Moonshine™ gold มาผลิตเป็นตัวเรือนด้วย

Santos de Cartier Skeleton Nochtambule
นาฬิกาคอลเลคชั่น Santos ของ Cartier มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งในฐานะนาฬิกาข้อมือสำหรับผู้ชายรุ่นแรกของโลก (ปี 1904) ซึ่งผ่านการพัฒนามาหลายทศวรรษและปรับโฉมในคอลเลคชั่นย่อยต่างๆ แต่มนต์เสน่ห์ของนาฬิกาข้อมือรุ่นแรกก็ยังคงอยู่และไม่เคยจางหายไปไหน Santos ได้รับการพัฒนามาจนถึงผลงานรุ่นล่าสุดของปีก่อนในคอลเลคชั่น Santos de Cartier ที่ย้ำประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยแรงบันดาลใจใจของท้องฟ้าในยามค่ำคืนที่ Alberto Santos-Dumonts อาศัยแสงไฟที่ส่องสว่างเพื่อทดสอบการบินครั้งสำคัญ Cartier ก็ได้นำความสว่างไสวท่ามกลางความมืดของท้องฟ้าในยามค่ำคืนถ่ายทอดด้วยงานเคลือบสารเรืองแสง Super-LumiNova® บนสะพานจักรโครงสร้างของตัวเลขโรมันเปี่ยมเอกลักษณ์ สารเรืองแสงที่อาศัยกลไกควอนตัมในการสร้างแสง จะเก็บแสงจากภายนอกในยามกลางวันและปล่อยพลังงานที่เก็บไว้ในรูปของโฟตอนเมื่ออยู่ในที่แสงน้อยหรือภายใต้ความมืด ไม่เพียงแต่ให้การอ่านค่าได้ชัดเจนในยามค่ำคืน แต่ยังอวดความงามเด่นของกลไกไขลาน คาลิเบอร์ 9612 MC ด้วย สำหรับสายแฟชั่นชั้นสูงไม่ควรพลาดหาเรือนนี้มาไว้บนข้อมือ ใส่เมื่อไรมีเรื่องเล่าเมื่อนั้นอย่างแน่นอน

Chanel 20th Anniversary J12
สายแฟชั่นต้องมีผลงาน J12 ของ Chanel สักรุ่นไว้ในกล่องเครื่องประดับ โดยเฉพาะสาวกของ Chanel ด้วยโทนสีดำอมตะหรือขาวพิสุทธิ์บวกกับดีไซน์ที่ไม่เคยล้าสมัยของ J12 ที่ได้รับการออกแบบโดย Jacques Helleu ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของแบรนด์ ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ปีที่แล้ว J12 ครบรอบ 20 ปี และผู้อำนวยการฝ่าย Chanel Watch Creation Studio คนปัจจุบันก็ได้รับมอบหมายงานที่สุดท้ายในการปรับโฉมแต่ไม่เปลี่ยนแปลงให้กับ J12 รุ่นใหม่ ซึ่ง Arnaud Chastaingt ก็ทำได้อย่างลงตัว ทั้งรักษาความเป็นไอคอนเอาไว้อย่างสวยงาม ในตัวเรือนและสายเซรามิกล้ำสมัยขนาด 38.0 มิลลิเมตร มีให้เลือกทั้งเซรามิกดำและขาว พื้นหน้าปัดดำหรือขาวจากการเคลือบแลกเกอร์เงาสวยสะดุดตา ขอบตัวเรือนปรับให้เพรียวลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างบนหน้าปัด จำนวนรอยเซาะบนขอบเพิ่มจาก 30 เป็น 40 ออกแบบตัวเลข ชุดเข็มและขีดเครื่องหมายใหม่ ลดความกว้างของเม็ดมะยมลง 1/3 และหลังเบี้ยเซรามิกที่เล็กลงเช่นกัน รายละเอียดที่เปลี่ยนไปเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับสาวก Chanel ที่สวมบนข้อมือแล้วจะไม่ผิดหวังเลย

IWC Pilot’s Watch Automatic Spitfire
IWC เป็นแบรนด์ที่ผูกพันกับการบินมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น และมีหลายคอลเลคชั่นที่รังสรรค์มาเพื่อการบิน โดยเฉพาะคอลเลคชั่น Pilot’s Watch ซึ่งเมื่อปีก่อน IWC มีโครงการพิเศษอย่าง ‘Silver Spitfire – The Longest Flight’ โดยให้การสนับสนุนฟื้นคืนชีพเครื่องบินขับไล่ Spitfire จากปี 1943 ให้กลับมาสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่กับการบินด้วยเส้นทางยาวที่สุด 43,000 กิโลเมตรผ่าน 30 ประเทศ และสำเร็จไปแล้วเมื่อปลายปี ในโอกาสพิเศษนี้ IWC ก็ได้ผลิตนาฬิกาหลายรุ่นในตระกูล Pilot’s Watch และ Big Pilot’s Watch แต่ถ้าถามว่ารุ่นไหนน่าเก็บสุดก็น่าจะเป็นความเรียบง่ายและเด่นด้วยฟังก์ชัน ชัดในดีไซน์อย่าง IWC Pilot’s Watch Automatic Spitfire มาไว้เป็นที่ระลึกกับประวัติศาสตร์สำคัญนี้ ตัวเรือนเท่กับวัสดุที่เปลี่ยนสีจากการออกซิไดซ์อย่างบรอนซ์ จากเฉดสีทองด้านสู่สีเขียวสวยตามคุณสมบัติของเหงื่อแต่ละคน หน้าปัดเขียวโอลีฟดูเท่และน่าสนใจ ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติชุดใหม่ 32000 และจับคู่กับสายหนังสีน้ำตาล มันคือความวินเทจที่จะทำให้การสะสมของคุณสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น