เผยแรงบันดาลใจอันพริ้วไหว จนทุบสถิติการประมูลของแบรนด์จิวเวลรี่หรู Cindy Chao The Art Jewel
ถ้าให้นั่งนึกถึงแบรนด์จิวเวลรี่ชั้นสูงที่มีมูลค่ากว่า 5-10 ล้านบาทต่อชิ้น เป็นราคาเริ่มต้นแล้วล่ะก็ เชื่อเลยค่ะว่า ‘แบรนด์ ซินดี้ เชา’ จะต้องถูกเลือกขึ้นมาเป็นอันดับแรกแน่นอน สำหรับผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง แบรนด์ Cindy Chao The Art Jewel ที่เกิดและเติบโตในครอบครัวศิลปินชาวไต้หวัน พรสวรรค์ที่ได้รับการถ่ายทอดทางสายเลือดจากคุณพ่อที่เป็นประติมากร และคุณตาที่เป็นสถาปนิกที่เคยออกแบบวัด และตึกระดับไอคอนมาแล้วมากมายทั่วประเทศไต้หวัน ส่งผลให้เธอรังสรรค์ผลงานจิวเวลรี่ชั้นสูง ให้ประสบความสำเร็จระดับโลกได้ในเวลาเพียงแค่ 15 ปี

ผลงานการออกแบบของเธอทำลายสถิติการประมูลมาแล้วหลายครั้ง ได้เข้าร่วมงานประมูลและจัดงานแสดงผลงานศิลปะระดับโลกมาแล้วมากมาย แถมยังได้รับคำชมด้านการพลิกโฉมหน้าวงการจิวเวลรี่มาแล้วด้วย
ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเธอจึงนับเป็นงานศิลป์แห่งอัญมณีชั้นสูงในโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง แต่หนทางในการสร้างแบรนด์ของเธอนั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ใครๆ คิด HELLO! ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับเธอ ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เพื่อเจาะลึกถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งอุปสรรคและขวากหนามต่างๆ ที่เธอต้องฝ่าฟันจนมาเป็น ‘ซินดี้ เชา’ ในวันนี้
โชว์รูมสุดหรูหรา
HELLO! มีนัดสัมภาษณ์ผู้หญิงเก่งคนนี้ที่ Cindy Chao Showroom ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งนับเป็นโชว์รูมส่วนตัวที่สองที่สร้างขึ้นในปี 2017 หลังจากที่โชว์รูมแห่งแรก
ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้รับความสำเร็จมาแล้ว โดยโชว์รูมในประเทศไต้หวันที่ตั้งอยู่บนตึก Taipei New Horizon ซึ่งอยู่ในละแวกย่านศิลปวัฒนธรรมและครีเอทีฟของกรุงไทเป โดยหลังจากเดินทางไปทั่วโลกมาเกือบ 13 ปี ในที่สุดซินดี้ เชา ก็ตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิดในประเทศไต้หวัน และเปิดโชว์รูมส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ซินดี้ เชาทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมตกแต่งภายใน เพื่อให้โชว์รูมแห่งนี้เป็นไปอย่างที่เธอปรารถนา และสะท้อนให้เห็นถึงดีเอ็นเอของแบรนด์มากที่สุดภายในโชว์รูมขนาด 165 ตารางเมตรแห่งนี้ ได้รับการตกแต่งอย่างพิถีพิถันและประณีตมาก! เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งล้วนได้มาจากแบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งใครจะเดินดุ่มๆ เข้าไปสัมผัสความหรูหราไม่ได้นะ ต้องมีการนัดหมายกันล่วงหน้าเท่านั้น ถึงจะเข้าไปยลโฉมผลงานมาสเตอร์พีซของเธอในบรรยากาศที่ดูเป็นส่วนตัวและเงียบสงบนี้ได้ พูดง่ายๆ ว่าต้องเป็นลูกค้าระดับ VIP นั่นแหละถึงจะเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ความหรูหราในแบบฉบับ Cindy Chao Art Jewel ได้
หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ในช่วงเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจจิวเวลรี่ชั้นสูงนี้ ซินดี้ เชายอมรับกับ HELLO! ว่า “ฉันไม่ได้ตั้งใจจะสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาหรอกนะ แต่ในฐานะของผู้สร้างสรรค์ เราก็จำเป็นต้องมีแบรนด์ไว้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา รวมทั้งต้องมีอะไรไว้เป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองและความสามารถในสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น”
ซินดี้ เชารำลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงแรกๆ ของการดำเนินธุรกิจให้เราฟังว่า “ในช่วง 10 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจในแบรนด์ Cindy Chao The Art Jewel นั้น เรามีลูกค้าประจำอยู่ไม่กี่คนหรอกนะ พูดตรงๆ เลยว่าตอนนั้นฉันคิดแค่ ‘ทำยังไงให้ชีวิตรอดเท่านั้นแหละ!’ ฉันมีภาระต้องเลี้ยงดูลูกชาย ซึ่งลูกชายคนนี้คือแรงบันดาลใจให้ฉันตั้งใจทำงานเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย โดยไม่ล้มเลิกกลางคันไปซะก่อน” พูดง่ายๆ ว่าตอนนั้นเธอไม่ได้ทำงานโดยนึกถึงแบรนด์ตัวเองเท่าไหร่ แต่พอวันเวลาผ่านมา 15 ปี อะไรๆ ก็เริ่มเข้าที่เข้าทางจนทำให้เธอมีแรงผลักดันที่ต่างไปจากเดิม “ทุกวันนี้ฉันไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ เพื่อความอยู่รอดอีกต่อไปแล้ว ฉันทำเพื่อแบรนด์ของฉันจริงๆ”

In front of the Petit Palais Paris
เธอยอมรับกับเราว่าการดำเนินธุรกิจทางด้านจิวเวลรี่ชั้นสูงนั้นนับเป็นเรื่องยากและหนักหนามาก และแม้จะถึงวันนี้…ในวันที่ Cindy Chao The Art Jewel มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องยากเย็นอยู่ดี “วงการจิวเวลรี่บนโลกใบนี้มี ‘ผู้ชาย’ เป็นใหญ่และมีอำนาจมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ผู้ชายตะวันออกกลาง’ ที่เมื่อทำการติดต่อธุรกิจ มักจะมีเรื่องของศาสนาเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเสมอ พวกเขาเป็นพวกอนุรักษ์นิยมและจะไม่ยอมแตะต้องเนื้อตัวผู้หญิงคนไหน ที่ไม่ใช่ภรรยาหรือเพื่อนพ้องของเขาเลย”
เหตุการณ์ทำนองนี้แม้จะสร้างความลำบากให้เธอในช่วงแรกๆ แต่เธอก็ใช้มันเป็นแรงผลักดันให้เธอมีความแข็งแกร่งขึ้น “ฉันใช้เวลาที่ผ่านมา 15 ปีในการโน้มน้าวและพิสูจน์ให้เห็นว่า ฉันมีศักยภาพในการทำธุรกิจนี้ได้ ซึ่งตอนนี้พวกเขาก็แฮปปี้ที่ได้ทำธุรกิจกับฉันและเฝ้ารอ
ที่จะได้เห็นความคืบหน้าของแบรนด์นี้ในปีต่อๆ ไป”
แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
ซินดี้ เชาเผยรายละเอียดในการสร้างสรรค์ผลงานให้ HELLO! ฟังว่า “การออกแบบจิวเวลรี่ชั้นสูงนี้เป็นการจับงานสถาปัตยกรรมและงานประติมากรรมเข้ามาไว้ด้วยกัน” เธอยอมรับว่าคุณตาและคุณพ่อของเธอล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงานของเธอ ซึ่งจริงๆ แล้วอาชีพที่เธอใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กๆ ก็คืออาชีพ ‘สถาปนิก’ แต่โดนคุณแม่ของเธอเบรกเอาไว้ โดยให้เหตุผลกับเธอว่า “ทั้งสองอาชีพนี้ทำให้ท่านไม่ค่อยได้เจอกับคุณตาและคุณพ่อเลย ซึ่งท่านก็ไม่อยากให้ฉันเป็นสถาปนิกเพราะเดี๋ยวจะห่างหายจากท่านไปอีกคน”
โดยคุณแม่ของเธอสนับสนุนให้เธอเป็น ‘ดีไซเนอร์’ ทางด้านจิวเวลรี่ชั้นสูงแทน แต่กลับกลายเป็นว่าซินดี้มีงานยุ่งวุ่นวายยิ่งกว่าคุณตาและคุณพ่อของเธอซะอีก เพราะเธอไม่มีเวลาได้เจอกับครอบครัวเลย นั่นคงเป็นเวลาที่เริ่มต้นงานนี้แล้ว ก็ไม่สามารถจะหยุดมันได้อีก
การรังสรรค์เข็มกลัดผีเสื้อประจำปี
แฟนพันธุ์แท้ของแบรนด์ Cindy Chao The Art Jewel อาจจะสังเกตเห็นว่า ผลงานการออกแบบจิวเวลรี่ของซินดี้ เชานั้นมักจะมี ‘เข็มกลัด’ เก๋ๆ อยู่มากมายเต็มไปหมด ซึ่งเธอได้ให้เหตุผลกับ HELLO! ว่า ‘เข็มกลัด’ มักจะมีที่ว่างให้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ไม่รู้จบ นอกจากนี้วิถีชีวิตของผู้คนสมัยนี้ก็เปลี่ยนไป โดยใครๆ มักชอบใส่อะไรแค่ครั้งสองครั้ง แล้วก็เปลี่ยนไปใส่อะไรใหม่ๆ เข็มกลัดจึงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ของคนสมัยนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใส่ง่ายและสามารถพกติดตัวไปได้ทุกที่ ที่สำคัญคือใช้ใส่ได้กับทุกโอกาสทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ซินดี้ เชามีผลงานการออกแบบเข็มกลัดที่ดูสวยไม่ซ้ำใครมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เข็มกลัดผีเสื้อ’ ที่เธอทำการออกแบบอย่างต่อเนื่องมาทุกปีนั้นมีทั้งหมด 9 ชิ้นแล้ว “ผลงาน Annual Butterfly ของฉันคือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านที่สมบูรณ์แบบของตัวเอง และยังสื่อถึงพัฒนาการในด้านเทคนิคและงานช่างฝีมือชั้นสูงของแบรนด์อีกด้วย” ซินดี้เล่าว่า ‘เข็มกลัด’ ในช่วงแรกๆ นั้นเป็นอะไรที่รังสรรค์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความชื่นชอบของตัวเองเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีลูกค้ามากมายนัก “ฉันจึงมีอิสระในการออกแบบเข็มกลัดผีเสื้ออย่างเต็มที่”
การออกแบบจิวเวลรี่ของซินดี้ เชาไม่ได้มีรูปแบบตายตัว “บางครั้งเห็นวัตถุดิบที่จะทำแล้วก็เกิดภาพ สเก๊ตช์ขึ้นมาเลย แต่บางครั้งก็ต้องรอเป็นปีๆ เลยนะกว่าจะออกแบบให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้” ซึ่งเข็มกลัดผีเสื้อจากคอลเลกชั่น The Black Label Masterpiece I ปี 2019 มีชื่อว่า ‘Aurora’ เนื่องจากสีหลักของมันคือสีแดงและน้ำเงิน ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสีแดงและน้ำเงินของแสงเหนือนั่นเอง ส่วนเส้นสายบนปีกผีเสื้อสีทองที่เห็นนั้นก็ทำจากเพชรสีเหลือง ในขณะที่ตัวผีเสื้อทำจากเพชรสีน้ำเงินเม็ดเล็กและเพชรสีขาวเม็ดใหญ่ ซึ่งเข้าคู่กันดีกับทับทิมสีแดง ‘Pigeon’s Blood’ จากพม่า ที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและพลังของธรรมชาติ
เข็มกลัดผีเสื้อ The Annual Butterfly ปี 2019 คือเอกลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์ของซินดี้ เชา ที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นศิลปินที่มีอยู่ในสายเลือด แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงคอนเซปต์พื้นฐานในการรังสรรค์ผลงานด้วย “ผลงานจิลเวลี่ทุกชิ้นของฉันเปรียบเสมือนผลงานสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก ที่คำนวณมุม ชั้น ช่องว่าง และการวางตำแหน่งอัญมณีแต่ละเม็ดอย่างแม่นยำ จึงทำให้ผลงานของฉันสามารถเปล่งประกายล้อเล่นกับแสงได้อย่างไม่รู้จบ”