เจ้าพงศ์แก้ว ธิดาคนโตของพลตรี เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน) ณ เชียงใหม่ และเจ้าหญิงภัทรา ธิดาของเจ้าน้อยจิตตะ และเจ้าหญิงส่องหล้า ณ ลำพูน ซึ่งเป็นพระธิดาของ ‘เจ้าหลวงอินทยงยศโชติ’ เจ้าหลวงนครลำพูนองค์ที่ 9 เจ้าพงศ์แก้วสืบสานเรื่องการทอผ้ายกลำพูนจากเจ้าหญิงส่วนบุญ พร้อมกับได้สร้างสรรค์งานทอผ้าไทยให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น จนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนข้าราชบริพารสตรีในราชสำนัก
คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้วถึงแก่อนิจกรรมจากอุบัติเหตุเครื่องบินเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมาจากสกุล ณ ลำพูน และ ณ เชียงใหม่ จึงถูกแบ่งสรรออกไปสู่บรรดาทายาท แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังคงอยู่ในคุ้มของเจ้าหญิงส่วนบุญ และบางชิ้นที่คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้วมอบให้คุณเจ้าดารารัตน์ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรม ดังที่คุณเจ้าดารารัตน์นำออกมาให้ชมในวันนี้
“ชิ้นแรกเป็นเข็มกลัดแบบโบราณ ไม่รู้เป็นของใครมาก่อน เป็นทองกับพลอยขาว หรือที่เรียกว่า โป่งข่าม เป็นศัพท์โบราณ ใช้กลัดสไบให้ติดกับตัวเสื้อ เจ้าแม่เอาไปทำใหม่ที่ร้าน AA ที่สยามเซ็นเตอร์ ดิฉันเคยเอามาติดเหมือนกัน เวลาฟ้อนรับเสด็จก็หนักเหมือนกัน เพราะเป็นทองแท้”
“ชิ้นที่สอง เป็นเข็มกลัดนพเก้า เป็นของเจ้าย่า ส่วนบุญ อายุก็ร้อยกว่าปีแล้ว เพราะในภาพถ่ายเจ้าย่าก็เห็นเข็มกลัดอันนี้กลัดที่คอเสื้อของท่าน ดิฉันชอบเพราะเพชรเม็ดโตดี ก็ได้เอามาใช้บ้างตามโอกาส ส่วนล็อกเก็ตพระรูปของพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย พระรูปนี้มาจากเจ้าแม่ เพราะเจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ ที่สืบสายมาจากท่านจะได้รับพระรูปนี้ แต่ใครจะเอาไปออกแบบกรอบล้อมรอบพระรูปอย่างไรก็แล้วแต่ความพอใจ ซึ่งพระรูปองค์นี้เจ้าแม่น่าจะได้รับจากเจ้าตา (เจ้าราชบุตรวงษ์ตะวัน) และล็อกเก็ตพระรูปเจ้าปู่-พลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งไม่น่าเป็นของเก่ามาก และกรอบพระรูป น่าจะทำขึ้นใหม่”
“ต่อมาเป็นเข็มกลัดนามย่อของเจ้าตา (เจ้า ราชบุตรวงษ์ตะวัน) มีอักษร วต ไขว้กัน ทำขึ้นใหม่ตามแบบที่สำนักพระราชวังทางกรุงเทพฯ ออกแบบมาสำหรับทำเครสผ้าไตรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทำบุญถวายพระ เพื่อเป็นเกียรติยศกับเจ้าราชบุตรวงษ์ตะวันที่ได้สิ้นไป และดิฉันก็ให้เขาออกแบบตรามูลนิธิเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ออกมาชิ้นหนึ่ง เป็นรูปช้างสองตัวใช้งวงทูลวงจักรมีอุณาโลมอยู่เหนือจักร ข้างในจักรมีอักษรย่อพระนามของเจ้าปู่ อักษร จค”
“สำหรับเซ็ตมรกตกับเพชรนี้ เป็นตุ้มหูกับเข็มกลัดเป็นของเจ้าแม่ ส่วนสร้อยข้อมือทับทิมล้อมเพชรนี้ เป็นของเจ้าแม่ แล้วก็มีแหวนเล็กๆ ใส่นิ้วก้อย หัวแหวนเป็นทับทิมสามชิ้นเล็กๆ ตัวเรือนทำใหม่ เป็นของแม่เจ้าจามรี เคยหล่นบนแผงขายของจุกจิกที่ไนท์บาซาร์ โชคดีที่ไม่หาย กลับไปหาก็เจอยังอยู่ปนกับของที่เขาวางขายนั่นละ ทับทิมที่ประดับสร้อยแขนล้อมเพชรนั้น เป็นมรดกที่เจ้าตาได้รับจากแม่เจ้าจามรี ชายาของ พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ มารดาของเจ้าตาเอง อันที่เป็นขันใบใหญ่ลงยาลายสลักสีน้ำเงินนี่ ดิฉันรักและติดตาติดใจมาตั้งแต่เด็ก เห็นอยู่ในคุ้มวงษ์ตะวัน แล้วเจ้าแม่ก็ได้รับเป็นมรดกมาจากเจ้าตา”
“ชุดที่มีคุณค่าที่สุด คือ ชุดเครื่องพระสุธารสชา เป็นเครื่องเงิน ที่เจ้าปู่ซื้อมาเตรียมไว้จัดพระสุธารสชาถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพและเสด็จฯ มาที่ลำพูนเมื่อปี พ.ศ. 2469 แล้วก็เก็บไว้ในตู้ที่คุ้มนี้ ไม่ได้นำออกมา ใช้อีก ถือเป็นของที่เป็นสิริมงคลมาก ส่วนชุดเครื่องหมากพลูนี่ ดิฉันก็เห็นมานานแล้ว แต่ไม่ได้ถามเจ้าแม่ว่า เคยใช้ในงานอะไรที่ไหนบ้าง ในคุ้มยังมีของเก่าอีกหลายชิ้นที่เก็บไว้ในตู้ แต่ดิฉันไม่เคยถาม พอเจ้าแม่สิ้นไปก็เลยไม่รู้ที่มาที่ไป น่าเสียดายมาก”
เรียกได้ว่าเป็นคุณค่าทางใจที่สื่อให้นึกถึงความรักความเอื้ออาทรของบุพการีนั้นไม่เคยเลือนจากใจ