Home > Watches & Jewellery > ความสุขของ ‘ภารไดย ธีระธาดา’ กับคลังนาฬิกาวินเทจที่มีเงินมากขนาดไหนก็ซื้อไม่ได้!

จากความชื่นชอบในวัยเยาว์ ‘นาฬิกา’ ได้กลายมาเป็นของสะสมสุดโปรดของ ‘คุณดุ๊ก – ภารไดย ธีระธาดา’ นักบริหารหนุ่มมาดเนี้ยบผู้มีไลฟ์สไตล์ที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งนาฬิกาที่สะสมนั้น ต้องเรียกว่าไม่ธรรมดาทีเดียว เพราะแต่ละเรือนล้วนไม่ใช่เป็นแค่เครื่องประดับ หรือเครื่องมือที่ใช้บอกเวลา แต่เป็นคุณค่าในเชิงงานศิลปะอันอุดมไปด้วยความคลาสสิก และเรื่องราวที่น่าค้นหา

'คุณดุ๊ก - ภารไดย ธีระธาดา'
‘คุณดุ๊ก – ภารไดย ธีระธาดา’ กับนาฬิกาเรือนโปรด

“นาฬิกาเป็นสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนนั้นคิดว่านาฬิกาเป็นเหมือนสิ่งแสดงความเป็นผู้ใหญ่ ใส่แล้วดูเท่ ก็เลยมีความรู้สึกดีๆ ต่อนาฬิกามาโดยตลอด จนกระทั่งมีโอกาสซื้อหาได้ด้วยตัวเอง จึงเริ่มสะสมมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ก็มีอยู่หลายเรือนทีเดียวครับ แต่เป็นนาฬิกาวินเทจเสียส่วนใหญ่ เพราะรู้สึกว่ามีคุณค่าเหนือกว่านาฬิการุ่นปัจจุบัน เพราะนาฬิกาสมัยใหม่แค่คุณมีเงิน คุณเดินเข้าบูติกก็สามารถหาซื้อได้ แต่กับนาฬิกาวินเทจคุณไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ถึงคุณจะมีเงินมากขนาดไหน แต่ถ้าคุณไม่สามารถหามันได้ในสภาพดีที่ดี มันก็ไร้ประโยชน์ คุณต้องใช้เวลา ต้องใช้โชค ใช้ความรู้ ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างมากๆ ในการตามหาเรือนที่คุณต้องการ ดังนั้นนาฬิกาที่ได้มาจึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความภาคภูมิใจ ยิ่งหายากเท่าไหร่ก็ยิ่งภูมิใจมากเท่านั้น นี่แหละคือรสชาติความสนุกในการสะสมนาฬิกาวินเทจ”

สำหรับคุณดุ๊ก การสะสมนาฬิกาไม่ได้เป็นเพียงแค่การเก็บนาฬิกาเรือนที่ชอบมาไว้ในกรุเพื่อชื่นชมเท่านั้น แต่ยังต้องสะสมเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และความรู้ต่างๆที่แอบซ่อนอยู่ในนาฬิกาเหล่านั้นเอาไว้เป็นอาหารสมองด้วย

(ซ้าย) Jaeger-LeCoultre Grand Reverso Tribute to Thailand and HM King Rama IX (ขวา) Omega Seamaster 600 ‘Ploprof’ นาฬิกาดำน้ำรุ่นดังจากยุค ’70

“ผมศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับนาฬิกามาตลอด เพราะมันเป็น Passion ของเรา กลายเป็นว่าการที่ได้ศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นกลับทำให้ผมรู้สึกสนุก สร้างความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า เช่นมีครั้งหนึ่งผมไปพิพิธภัณฑ์ Patek Philippe ที่นครเจนีวา พอเข้าไปรู้สึกว่าที่นี่เป็นเหมือนสวรรค์เลย ทุกอย่างดูตื่นตาตื่นใจ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และคนที่นั่นก็มีความรักในตัวนาฬิกา รักในประวัติศาสตร์ของเขา ทุกคนพร้อมที่จะมาพูดคุยและให้คำตอบในสิ่งที่ผมสงสัย ทำให้สิ่งที่อยู่ภายในนั้นดูมีคุณค่ามากขึ้น ให้เข้าไปอยู่ทั้งวันยังได้เลย”

หล่อคลาสสิก ลงตัวกับนาฬิกาที่สวมใส่

สำหรับการเลือกนาฬิกา สิ่งแรกที่คุณดุ๊กจะพิจารณาคือเรื่องดีไซน์ เพราะงานดีไซน์สามารถสะท้อนถึงความสวยงามในรูปแบบของศิลปะ และอีกนัยหนึ่ง งานดีไซน์ ยังสามารถบ่งบอกถึงเหตุผลในการรังสรรค์นาฬิกาแต่ละเรือนได้อีกด้วย

(ซ้าย) Rolex Oysterquartz Datejust (ขวา) Omega Bullhead นาฬิกาดีไซน์แปลกตาเป็นเอกลักษณ์

“ถ้าผมจะเลือกนาฬิกาให้ตัวเองสักเรือน สิ่งที่ดูเป็นอันดับแรกคือเรื่องดีไซน์ ดูว่าหน้าตาเป็นยังไง สวยถูกใจเราไหม โดยคำว่าสวยสำหรับผมอาจไม่ได้นิยามว่าต้องหรูหรา หรือมีเพชรเยอะๆ แต่สวยด้วยเหตุผล สวยด้วยประวัติและที่มา เช่น Omega Seamaster Ploprof ที่รูปแบบอาจจะดูประหลาด คนทั่วไปเห็นอาจจะมองว่าไม่สวยเลย แต่พอได้รู้ประวัติ เข้าใจเหตุผลที่ต้องออกแบบมาเป็นเช่นนี้เนื่องจากเป็นนาฬิกาที่นักดำน้ำ ฌาคส์ คูสโต ใช้สวมใส่ในภารกิจดำน้ำลึก แค่นี้ก็รู้สึกประทับใจ เพราะมันได้สะท้อนกระบวนการคิดที่แยบยลของผู้ผลิต สะท้อนความเอาใจใส่ต่อการใช้งาน ไม่ใช่แค่ทำเอามันอย่างเดียว จึงเป็นนาฬิกาที่สวย มีคุณค่าสำหรับตัวเอง”

(ซ้าย) Heuer Autavia นาฬิกาสปอร์ตคอลเลกชั่นดังจากปี 1969 (ขวา) 6. Audemars Piguet Royal Oak Extra Thin ‘A Serie’

นอกจากเสน่ห์ด้านความสวยงาม อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คุณดุ๊กรู้สึกหลงใหลคือการเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่หยุดนิ่ง เต็มไปด้วยพัฒนาการ และมีนวัตกรรมต่างๆออกมาให้ตื่นเต้นได้สม่ำเสมอ

“นาฬิกาส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่สร้างสรรค์ออกมาด้วยมาตรฐานที่ดีกว่าของเดิม บรรดานักประดิษฐ์พยายามสรรหานวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนออยู่ตลอด แม้จะเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากพื้นฐานเดิมแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการพัฒนาจึงผสมผสานด้วยความคลาสสิก และเป็นการพัฒนาโดยที่ไม่ไปทำลายขนบและศิลปะแบบดั้งเดิม”

(ซ้าย) Patek Philippe Nautilus (ขวา) Rolex Daytona 6263 Big Red

“ใครจะเชื่อล่ะว่าวิศวกรรมจักรกลจากเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ยังคงสามารถอยู่ให้เราได้เห็นถึงทุกวันนี้โดยที่ไม่ตายไปกับกาลเวลา นี่จึงเป็นเสน่ห์ที่เป็นอมตะ ผมชอบตรงนี้ ซึ่งการสะสมนาฬิกายังจุดประกายให้ผมผันตัวเองมาทำงาน Executive Coach อีกอย่างหนึ่ง ด้วยวัตถุประสงค์อยากช่วยดึงศักยภาพในตัวคนแต่ละคนออกมา เพราะผมมีความเชื่อว่ามนุษย์เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลาอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งบางคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีความสามารถ มีศักยภาพด้วยซ้ำ การทำงาน Executive Coach จึงเป็นการช่วยดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชีวิตของเค้า”

(ซ้าย) Tudor Submariner นาฬิกาเรือนเด่นจากยุค ‘70 (ขวา) Blancpain Fiffty Fathom Milspec 1

“และความชอบในการทำงาน Executive Coach ของผมก็คงจะเป็นความชอบที่อมตะเช่นเดียวกับความชอบนาฬิกาเหล่านั้นนั่นล่ะ”

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.