เครื่องเพชรของราชวงศ์เป็นสิ่งที่สร้างประวัติศาสตร์มาแล้วมากมาย และไม่ค่อยเผยโฉมต่อหน้าสาธารณชนมากนัก แต่ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ Sotheby’s กำลังจะจัดงานประมูลครั้งสำคัญ โดยนำเครื่องประดับไว้ทุกข์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งเป็นชิ้นที่พระองค์ทรงไปงานพระศพเจ้าหญิงอลิซ และยังมีเครื่องเพชรชิ้นพิเศษของแพทริเซีย แคนเชบูลล์ เคาน์เตสที่ 2 เมานต์แบ็ตเทนแห่งพม่า ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าชายฟิลิปและพระญาติในสมเด็จพระเอลิซาเบธที่ 2

ในกรุของแพทริเซียมีของท้ังหมด 350 ชิ้น เช่น เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ ภาพวาด และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น คอลเลกชั่นของแพทริเซียยังมีสมบัติล้ำค่าอย่างผลงานศิลปะที่หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน พ่อของเธอให้เป็นของขวัญ รวมทั้งเครื่องเพชรที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของแม่แพทริเซีย เอ็ดวินา เมานต์แบ็ตเทน

เครื่องประดับส่วนหนึ่งของเคาน์เตสที่ 2 เมานต์แบ็ตเทนแห่งพม่า ที่ถูกนำมาประมูลคือ จาบ็อต (สำหรับตกแต่งด้านหน้าเสื้อเชิ้ต) ปี 1930 ตกแต่งด้วยแซพไฟร์แกะสลักรูปทรงนก มรกตแกะสลักเป็นพวงหรีด นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับเพชรสไตล์ Tutti Frutti สร้อยคอพวงดอกไม้ ที่ใช้อัญมณีมรกต ทับทิม และไพลินแกะสลัก มูลค่าประมาณ 70,425 ถึง 105,673 ดอลลาร์สหรัฐฯ 2,114,369 – 3,172,620 บาท

แต่เครื่องประดับไว้ทุกข์ของเคาน์เตส เมานต์แบ็ตเทน ทรัพย์สินที่มีค่าทางประวัติศาสตร์กลับกลายเป็นชิ้นที่น่าสนใจสุดในการประมูลครั้งนี้ เพราะเป็นชิ้นตกทอดมาจากสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์มายาวนาน ผู้ต้องประสบกับความสูญเสียมากมายในชีวิต พระองค์ได้ทรงแสดงการไว้อาลัยให้กับคนรักผ่านเครื่องประดับแห่งความผูกพัน รวมถึงการไว้ทุกข์ให้กับพระราชสวามี ที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงฉลองพระองค์สีดำทุกวันเป็นเวลาสี่สิบปีหลังจากที่เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์
เครื่องประดับไว้อาลัยให้กับเจ้าหญิงอลิซ พระราชธิดาที่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคคอตีบ ในพระชันษา 35 ปี ประกอบไปด้วยพระเข็มกลัด 3 องค์ มีชิ้นหนึ่งเป็นโอนีกซ์รูปทรงหัวใจตกแต่งไม้กางเขน ตรงกลางสลักชื่อพระทายาทพระองค์ที่ 3 ตกแต่งด้วยเพชร ด้านหลังมีที่เก็บเส้นพระเกศาของเจ้าหญิงอลิซ ทาง Sotheby’s กล่าวว่านี่เป็นครั้งแรกที่ทรัพย์สินนี้ถูกนำมาประมูล ก่อนหน้านี้เครื่องประดับทั้งสี่ชิ้นนั้นอยู่ในการครอบครองของทายาท

โดยทรัพย์สินทั้งหมดที่จะนำมาประมูลมาจาก Newhouse บ้านของเลดี้เมานต์แบ็ตเทนที่อยู่กับสามี จอห์น แคนเชบูลล์ ลอร์ด บราโบร์นที่ 7 กัปตันของกองทัพ ที่ภายหลังผันตัวมาเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง A Passage to India และยังทำหนังดัดแปลงจากนิยาย Death on the Nile ของ Agatha Christie และ Murder on the Orient Express เขาเสียชีวิตปี 2005 ส่วนแพทริเซียเสียชีวิตปี 2017 และได้ทิ้งบ้านเก่าแก่จากศตวรรษที่ 18 ไว้เบื้องหลัง