เพราะ Passion แห่งความรักความชอบที่มีต่อนาฬิกา ทำให้ คุณอภิชัย ชินเศรษฐวงศ์ หนึ่งในนักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทย ต้องลุกขึ้นมาสานฝันของตัวเองด้วยการสะสมเรือนเวลาที่เขารัก และสร้างพิพิธภัณฑ์นาฬิกาส่วนตัวเพื่อแบ่งปันความชอบและความรู้ในเรื่องนาฬิกาต่อผู้ที่มีความหลงใหลในสิ่งเดียวกัน พร้อมกับสร้างความสุขที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ
Omega Speedmaster Professional Apollo XI 1969 ‘The First Watch worn on the Moon’ หรือรุ่นที่นักสะสมเรียกว่า ‘รุ่นเหยียบดวงจันทร์’
สำหรับเรือนนี้มาในรูปแบบพิเศษคือตัวเรือน หน้าปัด และสายผลิตจากทอง 18k แสดงฟังก์ชั่นจับเวลา ทำงานด้วยกลไก ไขลานโครโนกราฟ 2
.
“ความชอบเรื่องนาฬิกาของผมมีมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ผมท่านมักเลือกซื้อนาฬิกาให้ในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันสำเร็จการศึกษา และวาระพิเศษอื่นๆ นั่นจึงเป็นเหมือนการปลูกฝังที่ทำให้ผมชอบนาฬิกาขึ้นมา และเกิดความรู้สึกชอบมาตลอด กระทั่งเริ่มทำงาน สามารถหาเงินเองได้ จึงเริ่มมองหานาฬิกาสะสมมาเรื่อยๆ โดยนาฬิกาที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ Omega(โอเมกา) เพราะเป็นนาฬิกาที่สวย ดูดี ที่สำคัญคือมีประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ติดตามเยอะซึ่งแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นไปในตัวด้วย เช่น การได้เป็นนาฬิกาที่ไปสำรวจดวงจันทร์ หรือว่ามีส่วนร่วมอะไรกับองค์การนาซ่าบ้าง การที่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้นคือความสนุกในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่แค่ซื้อนาฬิกามาชื่นชมแล้วก็จบไป จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมโฟกัสสะสมแบรนด์นี้มาตลอด”
Omega DeVille Hour Vision Annual Calendar Limited Edition
ตัวเรือนทองขาว 18k พื้นหน้าปัดทูโทน แสดงเวลา 3 เข็มพร้อมวันและวันที่ ทำงานด้วยกลไกออโตเมติก ผลิตจำนวนจำกัด 160 เรือนทั่วโลก
.
การค้นหาเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายที่มีอยู่ในเรือนเวลาเล็กๆนี้ เป็นสิ่งที่สร้างความสนุก สร้างความน่าสนใจให้กับนักสะสมคนนี้ดังนั้นการสะสมนาฬิกาของเขานอกจากเป็นการสะสมตามความชอบ ความสวยงามในแง่ของงานศิลปะ ยังเป็นการเก็บสะสมประวัติศาสตร์อีกด้วย และเป็นประวัติศาสตร์ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้ครอบครอง แน่นอนว่าประวัติศาสตร์เหล่านั้น หลายต่อหลายเหตุการณ์ได้ถูกรวบรวมอยู่ในรูปแบบของสะสมส่วนตัวอันทรงคุณค่าของเขานี่เอง
“นอกเหนือจากนาฬิกาข้อมือแล้ว Omega ยังมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ในรูปแบบอื่นๆให้ได้หามาสะสมไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะ ไฟแช็ค หรือของพรีเมียมต่างๆ การตามเก็บของพวกนี้ก็เป็นความสนุกสนานและมีคุณค่าในการสะสมอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะของบางอย่างผลิตมาน้อย หรือทำมาแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ผลิตสำหรับอีเวนต์ใดอีเวนต์หนึ่งเท่านั้น บางทีจึงหายากกว่าพวกนาฬิกาข้อมือเสียอีก
Omega Louis Brant Perpetual Calendar
ตัวเรือนทอง 18k จัดแสดงฟังก์ชั่นปฏิทิน ตลอดชีพพร้อมข้างขึ้นข้างแรม ทำงานด้วยกลไกออโตเมติก
.
”หากถามว่านาฬิกาที่สะสมอยู่ทุกวันนี้มีกี่เรือน ถ้าให้คำตอบเป็นตัวเลขที่ชัดเจนคงไม่สามารถระบุได้ คงได้แต่บอกว่าหลายร้อยเรือน เพราะมีมากมายทั้งรุ่นวินเทจ รุ่นใหม่ และรุ่นหายาก ถึงขนาดที่สามารถนำมาจัดแสดงเป็นแกลเลอรี่ส่วนตัวได้ ในอนาคตนาฬิกาเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความชอบที่มีอยู่ในตัวของนาฬิกา Omega ไม่เคยจืดจางจากจิตใจเขาเลยแม้แต่น้อย แต่กลับพอกพูนเพิ่มขึ้นทุกวัน
“ผมทำห้องทำงานของตัวเองให้เป็นพิพิธภัณฑ์นาฬิกา Omega เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เราสะสมนาฬิกามาจนเยอะมากๆ ประกอบกับมีแอ็กเซสเซอรี่ส์ ของพรีเมียม เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ Omega สิ่งของเหล่านี้มีค่ามากสำหรับคนรักนาฬิกา และยังเป็นคลังความรู้สำหรับคนที่สนใจไอเดียที่จะทำพิพิธภัณฑ์ตรงนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งผมตั้งชื่อว่า Omega Passion (โอเมกา แพสชั่น) เพราะเกิดขึ้นมาจาก passion ของผม และเราอยากแชร์ passionตรงนี้ให้กับเพื่อนๆ ที่รักนาฬิกาหรือคนที่สนใจเข้ามาดูมาชม มาศึกษาหาความรู้ มานั่งคุยกัน ซึ่งในขณะเดียวกันผมก็ยังได้นั่งทำงานท่ามกลางสิ่งที่ตัวของชื่นชอบด้วย เป็นบรรยากาศที่มีความสุขมากๆ จนถึงวันนี้ก็ 10 ปีแล้ว ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถติดตามข่าวสารหรือติดต่อได้ที่เฟสบุ๊ก Omega PassionMuseum หรือที่เว็บไซต์ Omegapassion.com ได้ครับ
Omega Chronograph รุ่นพิเศษ ฉลอง 99 ปี กรมชลประทาน
นาฬิกาที่สั่งผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 99 ปี กรมชลประทานในปี พ.ศ.2544 ผลิตเพียง 300 เรือน จัดจำหน่ายให้กับข้าราชการ และ ผู้สนใจทั่วไป
.
“ในความคิดของผม นาฬิกา คือสิ่งที่อยู่เหนือคำว่าเครื่องบอกเวลาไปแล้ว ผมมองว่านี่คืองานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ประกอบไปด้วยความงาม ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรม และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สอดแทรกด้วยความรู้ นี่จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย และควรค่าแก่การสะสมเป็นอย่างยิ่ง”