‘ลูกหนู -ไพรำ ชุมพล ณ อยุธยา’ สาวน้อยหน้าคมวัย 16 ปี ซึ่งชื่อของเธอมีความหมายว่า “เพชร” เธอจึงเป็นเหมือนเพชรน้ำงามที่เติบโตในครอบครัวแสนอบอุ่น ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความประทับใจของบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น คุณลูกหนูเป็นธิดาคนเดียวของ ‘ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล’(คุณหนู) และ‘สุอาภา ชุมพล ณ อยุธยา’ (คุณบีบี้) เธอจึงนับเป็น “ทายาทรุ่นที่ 5 ของราชสกุลชุมพล”ห้องทำงานของเธอนั้นในสมัยก่อนเคยเป็นห้องนอนตอนแรกเกิด…เป็นเหมือนห้องแห่งความทรงจำในนั้นจะมีรูปของบรรพบุรุษทุกพระองค์ติดไว้ ทำให้ได้เห็นบรรพบุรุษมาตั้งแต่จำความได้ และคุณพ่อก็มักจะเล่าเรื่องราวที่ได้ทราบมาจากท่านทวดให้ฟังถึงแม้รายละเอียดนั้นอาจจะจำไม่ได้เท่าคุณพ่อแต่ก็รู้สึกภูมิใจมากค่ะ
ลูกหนู -ไพรำ ชุมพล ณ อยุธยา
คุณลูกหนูกล่าว “นอกเหนือจากความภาคภูมิใจ และชื่นชมผลงานในแง่ของการปกครอง และการทำเพื่อประเทศชาติแล้ว หนึ่งในความประทับใจที่คุณลูกหนูมีต่อเสด็จเทียดของเธอก็คือ ฝีมือในด้านงาน ”หัตถศิลป์” ที่เห็นได้จากงาน ”เครื่องประดับทองฝีพระหัตถ์” ที่ทรงทำขึ้นด้วยพระองค์เองเพื่อประทานให้กับ’หม่อมเทียดเจียงคำ’เครื่องประดับดังกล่าวที่ปัจจุบันตกทอดเป็นของคุณลูกหนูนั้น เป็นสร้อยทองถักฝีมือประณีตที่ถักจากเส้นทองคำบอบบางสานเป็นรูปทรงแบบโปร่งเรียงกันสามเส้นลดหลั่นความยาว แม้เวลาจะผ่านมานานกว่าศตวรรษแต่สีของเนื้อทองคำยังคงเปล่งประกาย และยังสามารถนำมาสวมใส่ได้กับเสื้อผ้าสมัยใหม่แสดงให้เห็นถึงความประณีต และพระปรีชาในด้านงานศิลป์ของเสด็จในกรมเป็นอย่างยิ่ง
‘ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล’ คุณพ่อของคุณลูกหนูเล่าให้ฟังว่า “ตอนที่เสด็จในกรมไปประจำอยู่ที่อุบลราชธานีนอกจากพระภารกิจในการดูแลปกครองความเรียบร้อยของบ้านเมืองแล้ว ยามว่างพระองค์จะทรงงานช่าง ทำเครื่องทองเครื่องประดับ และเครื่องแต่งตัวประทานให้ชายา และพระโอรสพระธิดาใส่อยู่เสมอเรียกว่ามีทั้งความเข้มแข็งแบบนักปกครองในขณะเดียวกันก็ยังมีความเป็นศิลปินอย่างสูงเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็น “ศิลปินนักรบ” โดยแท้จริง
สร้อยทองถัก ที่ได้พระราชทานต่อกันถึง 5 ชั่วคน
‘เครื่องเกศากันต์’ เครื่องประดับที่เธอได้รับมรดกตกทอดมาส่วนหนึ่ง อย่าง “สร้อยทองถัก” ที่ได้ประทานต่อกันถึง 5 ชั่วคน นอกจากนั้นเครื่องประดับส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของ ‘ม.จ.พวงรัตนประไพ’ สมัยยังทรงพระเยาว์ที่ประทานให้กับ ‘ม.ล.สุภสิทธิ์’ ซึ่งเป็นหลานชายที่ท่านเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก
“เครื่องประดับทับทิม”ด้วยจี้ทับทิมเจียระไนแบบหลังเบี้ย , กำไลทองลงยาประดับทับทิม , แหวนพญานาคปิ่นปักผม
โดยเฉพาะ “เครื่องประดับทับทิม” อันเป็นส่วนหนึ่งจาก “เครื่องเกศากันต์” ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ม.จ.พวงรัตนประไพ ท่านทวดของคุณลูกหนูนั้นเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการต้นราชสกุล ‘เทวกุล’ กับหม่อมพุกจันทรเสน “เครื่องประดับทับทิม” ที่ระลึกใน ”พิธีเกศากันต์” ของท่านหญิงพวงรัตนประไพที่ประทานตกทอดมาถึงคุณลูกหนูนี้ประกอบไปด้วยจี้ทับทิมเจียระไนแบบหลังเบี้ย , กำไลทองลงยาประดับทับทิม , แหวนพญานาคปิ่นปักผม , รวมทั้งก้อนทองคำธรรมชาติ หรือ gold nugget และลูกปัดทองคำ แต่ละชิ้นล้วนทรงคุณค่าต่อจิตใจยิ่งกว่าราคาค่างวดใดๆ

‘พวงรัตนประไพ’ในพิธีเกศากันต์
ในห้องทำงานของลูกหนู มีภาพถ่ายของท่านทวด ‘พวงรัตนประไพ’ ในพิธีเกศากันต์หลายภาพซึ่งเป็นภาพที่ท่านใส่เครื่องประดับชุดทับทิม มีกำไล สร้อยคอ ตั้งแต่เด็กใครๆ ก็มักจะบอกว่าลูกหนูเหมือนท่านเครื่องประดับที่ท่านใส่สวยมาก เมื่อโตขึ้นมาได้เห็นของจริงก็ว่ายิ่งสวย บางชิ้นก็เก๋ เช่น จี้ทับทิมที่เอามาใส่เป็นต่างหูได้… ดีใจที่คุณพ่อยกให้ภูมิใจที่ได้รับมรดกที่มีคุณค่าทางใจนี้ค่ะ

แหวนหมั้นพระราชทาน( แหวนเพชร Canary Yellow)
“แหวนหมั้นพระราชทาน” ด้วยความที่เติบโตมาด้วยกัน อีกทั้งยังมีพระชันษาไล่เลี่ยกัน ‘ม.จ.พวงรัตนประไพ’ จึงทรงใกล้ชิด และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก ’สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี’ มาโดยตลอด เมื่อเสกสมรสกับ ‘ม.จ.อุปลีสาณ ชุมพล’ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี พระราชทานน้ำสังข์ ตลอดจนโปรดให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เลือก “แหวนเพชร Canary Yellow” น้ำงามสีเหลืองใส มาเพื่อพระราชทานให้ ‘ม.จ.อุปลีสาณ’ นำไปหมั้น ‘ม.จ.พวงรัตนประไพ’ อีกด้วย ซึ่งต่อมาท่านหญิงได้ประทานแหวนวงนี้ให้ ‘ม.ล.สุภสิทธิ์’ เพื่อเก็บไว้เป็นแหวนแต่งงาน “เมื่อพ่อแต่งงานกับแม่ แม่ก็ได้รับแหวนวงนี้ แม่บอกพ่อว่าแม่ขอเก็บแหวนนี้ให้เจ้าของคนต่อไปที่จะมาเกิด และเมื่อลูกหนูเกิด แม่ก็ยกแหวนวงนี้ให้ลูกหนูทันที” มีเรื่องราวและความงดงามแฝงอยู่ในแหวนเพชรอันทรงคุณค่าวงนี้ที่ตกทอดมาสู่คุณลูกหนู

ลูกหนู -ไพรำ ชุมพล ณ อยุธยา
เธอเล่าถึงความรู้สึกที่แท้จริงว่า “ความจริงหนูไม่ได้เป็นคนที่ ชอบใส่เพชรใส่พลอย เพราะว่ายังเด็ก มันไม่ใช่ของจำเป็น และไม่เหมาะกับบุคลิก ปกติหนูไม่ใส่แหวนเลยด้วยซ้ำ ยกเว้นแหวนเล่นๆ พวก costume jewelry แต่เมื่อได้เป็นเจ้าของแหวนวงนี้ก็ดีใจมาก เพราะเป็นแหวนที่ท่านทวดได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 และตกทอดมาถึงพ่อและถึงหนูประวัติและที่มาจึงมีคุณค่าแก่จิตใจมากกว่าสิ่งอื่นใด “ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานเกือบหนึ่งร้อยปีเพชรสีเหลืองเม็ดนี้ก็ยังคงความสวยงาม ไม่เปลี่ยนแปลง” แต่ถึงจะภูมิใจเพียงใด เธอกลับบอกว่าคงหาโอกาสใส่ได้ยาก เพราะเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เธอไม่ใช่คนชอบเครื่องเพชรรวมทั้งในชีวิตประจำวันทั้งตัวเธอ คุณแม่ และคุณพ่อก็ไม่มีใครสนใจใส่เครื่องประดับใดๆ เพราะคิดว่าเป็นการสร้างภาระโดยไม่จำเป็น

เครื่องประดับจากเสด็จเทียดต้นตระกูล ‘ชุมพล’
“สายเลือดศิลปิน”ความผูกพันในงานศิลปะของราชสกุล ‘ชุมพล’ ยังสืบทอดต่อมาจนถึงทายาทรุ่นที่ 5 ที่แม้จะไม่ได้ออกแบบเครื่องประดับเช่นเดียวกับเสด็จเทียด แต่ท่ามกลางภาพเขียน และภาพถ่ายโบราณที่จัดอยู่ในห้องนั่งเล่น ส่วนหนึ่งเป็นผลงานภาพวาดฝีมือคุณลูกหนู ที่เริ่มต้นวาดตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบ และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เธอเล่าว่าหยุดวาดภาพมาได้พักหนึ่งเนื่องจากตอนนี้กำลังสนุกกับการเรียนฟิสิกส์ และเลข ซึ่งเธอมุ่งมั่นว่าน่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญเมื่อต้องเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย นอกเหนือจากความสามารถด้านศิลปะแล้ว คุณลูกหนูยังสามารถเล่นเปียโน และระนาดได้อีกด้วย เธอเริ่มหัดระนาดตอนอายุเพียง 4 ขวบเพราะติดใจจากภาพยนตร์เรื่องโหมโรง และในวัย 7 ขวบเธอเคยเล่นระนาดกับขุนอิน (ครูระนาดเอกที่โด่งดังมาจากภาพยนตร์เรื่องโหมโรง) ที่วังสวนผักกาด ต่อมาเมื่ออายุ 9 ขวบ เธอได้รับการทาบทามให้ไปเดี่ยวระนาดในงานปิดประชุมผู้นำ APEC ที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นานนับชั่วโมง ซึ่งนับว่ามีความอดทนสูงไม่น้อยทีเดียวสำหรับเด็กในวัย 9 ขวบเช่นนั้นแม้คุณลูกหนูจะห่างกันหลายต่อหลายชั่วอายุคนกับเสด็จเทียด แต่สายเลือดแห่งความเป็นศิลปินนั้นพิสูจน์แล้วว่ามิได้แตกต่างกันแม้แต่น้อย