เวลา 40 ปีอาจนับว่านานเกินกว่าครึ่งชีวิตของคนคนหนึ่ง และกว่า 40 ปีของการสะสมอัญมณีมากค่าอย่าง ‘การสะสมเพชร’ ของ ‘คุณหมู-พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล’ นอกจากความรักความชอบที่ส่งผ่านทางสายเลือด คุณค่าและมูลค่าของ ‘เพชร’ ยังอยู่เหนือกาลเวลา ‘Diamonds are forever’ หากเป็นความหมายของเพชรในนิยามของเธอ “หมูคุ้นเคยกับเพชรมาตั้งแต่เด็ก สมัยโบร่ำโบราณคุณย่า (โสภา ลี้อิสสระนุกูล) เคยเปิดร้านขายเพชรมาก่อน มาเลิกไปตอนแต่งงานกับคุณปู่ (กนก ลี้อิสสระนุกูล) คุณพ่อ (วิทยา ลี้อิสสระนุกูล)จึงมีความรู้เรื่องเพชร ส่วนคุณแม่ (พรดี ลี้อิสสระนุกูล) เองก็ชอบและสะสมเครื่องเพชร เลยเป็นความชอบสืบทอดกันมา เมื่อก่อนครอบครัวเราไม่ได้มีฐานะ ผู้ใหญ่ก็สอนว่าตอนเริ่มมีสตางค์แทนที่จะซื้ออะไรฟุ่มเฟือยก็ซื้อเพชรเม็ดเล็กๆ ทีละ5 เม็ด10 เม็ดเก็บไว้ดีกว่า”
มรกตน้ำงามจากโคลอมเบียล้อมเพชร เป็นได้ทั้งจี้ และเข็มกลัดเข้าคู่กับสร้อยมุกน้ำงาม
ตอนเด็กๆ ไม่เคยมองว่าจะเรียนวิศวะฯ สมัยเรียนเตรียมอุดมก่อนเข้ามหาวิทยาลัยรู้เลยว่าคุณพ่อลำบากเพราะทำธุรกิจ ท่านร่วมทุนกับญี่ปุ่นทำโรงงานยาง กลับมาจากโรงงานปุ๊บเข้ามาในบ้านถอดถุงเท้าจะมีฝุ่นเขม่าดำกองเต็มเลย ศัพท์เฉพาะเขาเรียกcarbon black โหย…พ่อเราลำบากจังเลย สงสารท่านจึงตัดสินใจว่าอย่างนั้นก็เรียนวิศวะฯ แล้วกันจะได้มาบริหารโรงงานให้คุณพ่อ จึงตั้งใจสอบเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ได้ จนได้เรียนวิศวะฯอุตสาหการ เพราะจะมาบริหารโรงงาน ก่อนไปศึกษาต่อด้าน MBA ที่ Drexel University สมัยนั้นผู้หญิงเรียนวิศวะฯ เรียกได้ว่าน้อยมากคุณหมูเล่าว่ารุ่นเธอมีนิสิต 400 คน เป็นผู้หญิงเพียง 10 คนเท่านั้น บุคลิกการทำงานของเธอจึงเป็นแบบลุยๆ ถึงไหนถึงกัน อย่างที่เธอเรียกตัวเองว่า “หมูเป็นสาวโรงงาน”
นอกจากเรื่องธุรกิจที่เธอตั้งใจบริหาร ‘การสะสมอัญมณี’ โดยเฉพาะเพชรนับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ใช้ทั้งความตั้งใจและอดทนไปพร้อมๆ กัน จากการเริ่มต้นสะสมเพชรล็อตแรกเมื่ออายุเพียง 15 ปี ถึงวันนี้คุณหมูมีของสะสมมากมูลค่ารอส่งต่อให้ลูกชายและลูกสาวอย่างมากมาย“หมูมีรายได้ครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี ได้เงินมาก็ซื้อเพชรเก็บทีละกะรัตบ้าง สองกะรัตบ้าง สมัยนั้นมีเงินสองหมื่นก็ซื้อได้แล้ว เริ่มจากเก็บเพชรร่วงเลือกสีสวยๆ น้ำงามๆ ค่อยๆ สะสมมาทีละนิดประมาณ 15 ปีจนเป็นสร้อยเส้นนี้” เธอหมายถึงสร้อยคอเพชรชิ้นงามส่องแสงระยิบ จัดวางเรียงเพชรเป็นสองแถว แถวในเป็นเพชรเม็ดกลม แถวนอกเป็นวงรีคล้ายใบไม้ ตรงกลางเป็นเหมือนจี้รูปใบไม้เรียงซ้อนเล่นระดับสวยงาม
การสะสมชุดเครื่องเพชรรูปหัวใจ เพราะ มีความหมายที่คล้องจองกับชื่อ ซึ่งชิ้นที่เป็นสร้อยข้อมือนั้นต้องรอถึง 2 ปีกว่าจะได้มา
“สมัยก่อนตอนหมูเด็กๆจำได้เลย คุณพ่อเงินเดือนยังไม่เยอะ เงินกงสีคุณปู่ก็ดูแล จ่ายเงินเดือนให้ลูกหลานอย่างเหมาะสม ตอนนั้นคุณแม่อยากให้หมูมีของสวยๆ งามๆ ใส่ ท่านก็ซื้อแหวนวงเล็กๆ ให้ มีทับทิมแดงเม็ดเล็กประดับเป็นทับทิมไทยที่สวยมาก รู้เลยว่าตอนนั้นคุณแม่กัดฟันซื้อให้เป็นสมบัติติดตัว” ตอนนี้ของรักชิ้นนี้กลายมาเป็นแหวนเพชรประดับทับทิมอย่างละเม็ด เพชรน้ำงามระดับดีคัลเลอร์ถูกเจียระไนอย่างตั้งใจจนเป็นรูปหัวใจ อยู่เคียงกันกับทับทิมเจียระไนรูปหัวใจเช่นกัน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าแหวนวงนี้มี ‘คุณค่าทางใจ’ มากเหลือเกิน จนเธอไม่กล้าใส่บ่อยเพราะกลัวทำหาย ทั้งยังไม่ตัดสินใจยกให้ลูกคนไหน เพราะเป็นชิ้นที่รักที่สุดนั่นเอง

“เป็นคนไม่ค่อยใส่แหวน เพราะผอมแต่ข้อนิ้วใหญ่ ทำให้แหวนลงไปกองและหมุนตลอดเวลา ตอนเด็กเคยใส่วิ่งเล่นแล้วทำหายกลับบ้านเหลือแต่หนามเตยก็มี เลยไม่ค่อยกล้าใส่ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยจะเป็นต่างหู ถึงผมทรงนี้แต่ยังชอบใส่ต่างหูตลอดนะคะ” เธอเปิดผมโชว์พร้อมเล่าว่าเพราะมันเป็นของที่ไม่ค่อยหาย ใส่ติดรูหู ถ้าหายคงรู้ตัวก่อนเพราะคงเจ็บตัวจากหูฉีกแน่ๆ อีกอย่างคือเธอเป็นคนขี้ลืม บางทีส่งจี้ที่ทั้งหายากและมีราคาแพงไปพร้อมการส่งเสื้อผ้าซักรีดก็มี โชคดีที่บริวารคอยเป็นหูเป็นตาเก็บมาคืนให้ทุกครั้ง
“หมูจะมีทริกการสะสมเพชรนิดนึง คุณแม่สอนมาว่าให้เก็บสีเดียวกัน เลือกน้ำงามๆ ไปเลยค่อยๆ เก็บอย่าใจร้อน พอได้ครบแล้วค่อยเอามาทำตัวเรือนอะไรว่ากันไป เพชรน้ำดีๆ บางทีต้องรอนาน อย่างต่างหูรูปหัวใจ 3 กะรัตคู่นี้ต้องรอถึง 4 ปีกว่าจะได้ครบสองข้างค่ะ”

แหวนหมั้นทรงกลมที่คุณพ่อสามีเป็นผู้เลือกให้ แทนความหมายของความกลมเกลียวและอบอุ่น
และจี้เพชรที่คุณตามอบให้คุณแม่ตอนแต่งงาน
นอกเหนือจากที่สะสมเองมานานแล้ว เครื่องเพชรจำนวนไม่น้อยของคุณหมูนั้นได้รับตกทอดมาจากคุณแม่สามี เดิมทีท่านเสียไปนานก่อนคุณหมูจะแต่งงานกับสามี (อภิชาติ เหล่าจินดา) แต่ได้มอบมรดกล้ำค่านี้ไว้ให้ว่าที่สะใภ้ในวันแต่งงานสามีจึงมอบให้หลังแต่งงานเป็นสมบัติ

“เพชรเป็นของที่มีราคาเติบโตตามกาลเวลาและความหายากของมัน แนะนำว่าคนสมัยใหม่ถ้าจะเก็บสินทรัพย์อะไร ก็เริ่มเก็บจากเพชรนี่แหละ และเมื่อซื้อแล้วควรใส่ การใส่เหมือนเป็นดอกเบี้ยของเพชร ถ้าซื้อเก็บเฉยๆ ก็เหมือนทิ้งดอกเบี้ยไปเปล่า”

หลักการเลือกสะสมเพชรของคุณหมูนั้นถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเธอปฏิบัติตามเคร่งครัด นั่นคือ “หนึ่งเลยซื้อของดีไม่มีรอยร้าว มันจะเป็นอะไรที่ตลอดชีพไม่มีการลดค่า ถ้าเจอของไม่ดีก็เก็บสตางค์ไว้ ให้กลั้นใจไว้ก่อน และเวลาซื้อของอย่าเอาของของเขาไปแล้วไม่จ่ายสตางค์ เพราะว่าทุกคนมีสินค้าเป็นสต็อก ถ้าจะเอาสินค้าเขาต้องจ่ายเขาก่อน เป็นคำสั่งที่เด็ดขาดตั้งแต่ปู่ย่าตายายจนมาถึงรุ่นหมูเลยถ้าหากว่าไม่มีเงินไม่ต้องเข้าร้าน แค่นี้เอง”
…………………………………………………….
Cr. Photos : ชัยฤทธิ์ ประไพ