Home > Watches & Jewellery > Watches > ย้อนรอย OMEGA ตลอด 89 ปีที่ผ่านมาในฐานะผู้บอกเวลาของ ‘โอลิมปิก’

OMEGA ถือเป็นบริษัทนาฬิกาแห่งแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น ‘ผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการ’ ใน ‘มหกรรมกีฬาโอลิมปิก’ โดยครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นในปี 1932 ก่อนดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลากว่า 89 ปีที่ผ่านมานี้ OMEGA ได้ทำหน้าที่ไปทั้งหมด 29 ครั้ง และสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ นับว่าครบรอบครั้งที่ 30 อย่างพอดิบพอดี

ย้อนประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่กลับไป 89 ปี

ด้วยชื่อเสียงในเรื่องความเที่ยงตรงของ OMEGA ทำให้ในปี 1932 ได้รับหน้าที่อันทรงเกียรติ ให้เป็นผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรก โดยในปีนั้นแบรนด์ได้ส่งช่างนาฬิกาจาก Bienne พร้อมนาฬิกาจับเวลาความเที่ยงตรงสูง 30 เรือน ที่บอกเวลาได้ละเอียดเกือบถึงระดับ 1/10 ของวินาที

ต่อมาในปี 1936 มหกรรมกีฬาโอลิมปิกถูกจัดขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตเรือนเวลาทุกคน แต่ด้วยความเที่ยงตรงและอุตสาหะของ OMEGA ก็ทำให้การแข่งขันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สถิติเวลาได้ถูกบันทึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง และเมื่อยุคของไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกมาเยือนในปี 1948 แบรนด์ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้วยการคิดค้นนวัตกรรม ‘กล้องโฟโต้ฟินิชรุ่นแรก’ มาพร้อม ‘โฟโต้อิเล็กทริกเซลล์’ ที่ช่วยตัดสินลำดับและเวลาการเข้าเส้นชัยของนักกีฬาทุกคน

แบรนด์ยังคงไม่หยุดยั้งพัฒนา ‘กลไกควอทซ์ โครโนกราฟ’ มาพร้อมเครื่องพิมพ์ความเร็วสูง สามารถพิมพ์ผลออกมาได้ที่ความละเอียดระดับ 1/100 วินาทีสำเร็จในปี 1952 และเดินหน้าไม่หยุดยั้งจนในโอลิมปิกเกมส์ ปี 1956 สามารถผลิต ‘Swim Eight-O-Matic’ นวัตกรรมบอกเวลาที่จะเริ่มจับเวลาอัตโนมัติเมื่อยิงปืนปล่อยตัว และกลไกหยุดลงเมื่อนักกีฬาถึงเส้นชัย ถือเป็นก้าวสำคัญในวงการแข่งขันกีฬาเลยทีเดียว

ยกระดับให้โอลิมปิกเกมส์ในปี 1964 กับระบบการถ่ายทอดแบบ ‘เรียลไทม์’ พร้อมแสดงผลเวลาของนักกีฬาบนหน้าจอ ย้ำถึงความเที่ยงตรงของ OMEGA สู่สายตาสาธารณะ และในปี 1968 นวัตกรรม ‘ทัชแพด’ ก็ได้ถูกนำมาใช้ในกีฬาว่ายน้ำ สามารถให้นักกีฬาแตะหยุดเวลาได้เอง ถือเป็นช่วงทศวรรษแห่งความก้าวหน้าและพัฒนาจริงๆ เพราะในปี 1976 OMEGA ได้เปิดตัว ‘วิดีโอเมทริกซ์บอร์ด’ สามารถโชว์ผลคะแนนรวม แสดงเวลา และภาพวิดีโอไปพร้อมกันได้

อีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในปี 1984 ที่ OMEGA ได้ใช้เครื่องตรวจการออกสตาร์ท ซึ่งจะทำงานผ่านแรงกดของฝ่าเท้านักวิ่งขณะออกตัว ทำให้สามารถตรวจจับการทำผิดกติกาได้แม้เพียงเสี้ยววินาทีที่สายตาไม่สังเกตเห็น ตามมาอย่างต่อเนื่องในปี 1988 กับหน้าบทใหม่ของสถิติ ที่มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาจัดเก็บข้อมูลทางสถิติ รวมถึงวิดีโอเมทริกซ์บอร์ดรุ่นใหม่ที่แสดงภาพวิดีโอแบบสีได้แล้ว

หลังห่างหายไปกว่าทศวรรษ ในปี 2006 OMEGA กลับมาพร้อมก้าวแรกของเทคโนโลยีบนร่างนักกีฬา โดยนักกีฬาจะสวมใส่เครื่องส่งสัญญาณรุ่นพิเศษที่ข้อเท้า ซึ่งทำหน้าที่รับส่งสัญญาณวิทยุ ช่วยให้แบรนด์สามารถบอกเวลาได้อย่างแม่นยำเที่ยงตรง ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2012 แบรนด์ยังเพิ่มความละเอียดในการบอกเวลาไปถึงระดับ ‘หนึ่งส่วนหนึ่งล้านวินาที’ ซึ่งละเอียดกว่ารุ่นก่อนถึง 100 เท่า และเที่ยงตรงกว่าเดิมถึง 5 เท่า

และครั้งที่ 29 ที่ผ่านมาในปี 2018 กับการเปิดศักราชใหม่ด้วย ‘เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง’ ซึ่งสามารถใช้ได้ในทุกเกมส์กีฬา ทั้งยังช่วยให้เหล่านักกีฬาวิเคราะห์ขีดความสามารถของตนเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ และสำหรับในครั้งที่ 30 นี้ OMEGA ยังคงใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์เดิม ควบคู่ไปกับสกอร์บอร์ด, ไฟประจำแท่นกระโดด (Swimming Light Show) และเครื่องนับรอบใต้น้ำ ช่วยให้ผู้ชมทราบถึงข้อมูลเชิงลึก และนักวิเคราะห์ยังสามารถบรรยายถึงวินาทีแห่งชัยชนะได้อย่างจุใจยิ่งขึ้น

ไม่มีใครไปโอลิมปิก โดยที่ไม่อยากได้เหรียญทอง

นักกีฬาโอลิมปิกที่มุ่งสู่เหรียญทองในปีนี้มีมากมายนับไม่ถ้วน ทาง OMEGA ได้มีโอกาสพูดคุยและร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับนักกีฬาโอลิมปิก 8 คนในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘โนอาห์ ไลเลส’ นักกรีฑาลมกรดอายุน้อยดาวเด่น ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องกลับบ้านไปพร้อมเรหียญทอง

‘แชด เลอ คลอส’ นักกีฬาว่ายน้ำที่คว้าเหรียญจากหลากหลายรายการ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่สามสำหรับเขา และเขาตั้งใจที่จะทำลายสถิติโลกให้ได้ หรือทางฝั่ง ‘รอรี่ แม็คอิลรอย’ นักกอลฟ์มากความสามารถที่คว้าชัยชนะจากรายการใหญ่มากมาย แต่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ถือเป็นปีแรกสำหรับเขา และเขาตั้งตารอประสบการณ์ใหม่ที่จะได้พบในปีนี้ไม่ไหวแล้ว

ขณะที่ ‘ปีเตอร์ เบอร์ลิง’ และ ‘แบลร์ ทูค’ ลูกเรือจากนิวซีแลนด์ที่ลงแข่งหลายรายการ พร้อมได้รับเหรียญกลับบ้านไปด้วยแทบทุกครั้ง คำถามคือในปีนี้ พวกเขาจะคว้าเหรียญไหนติดมือกลับไปเพิ่ม? อีกหนึ่งนักกีฬาที่น่าจับตามองก็คือ ‘อาร์มันด์ มอนโด ดูพลาทิส’ ที่เริ่มเล่นกีฬาค้ำถ่อตั้งแต่อายุสามขวบ และยังเป็นเจ้าของสถิติกระโดดสูงถึง 6.18 เมตร ซึ่งเขาเองก็คาดหวังที่จะได้เหรียญทองกลับไปในปีนี้

‘คอลลิน โมริคาวะ’ นักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่ลงแข่งและคว้าถ้วยรางวัลได้ตั้งแต่อายุ 24 ปี ซึ่งโอลิมปิกเกมส์ในปีนี้จะเป็นครั้งแรกของเขา เรียกว่าน่าจับตามองเป็นอย่างมากว่าเขาจะทำให้ทุกคนตกตะลึงอีกครั้งหรือไม่ ปิดท้ายด้วย ‘ดาลิลาห์ มูฮัมหมัด’ กับนักวิ่งกระโดดข้ามรั้วผู้เคยทำลายสถิติโลกมาแล้ว จึงไม่แปลกใจเลยที่ในปีนี้ ใครๆ จะคาดการณ์ว่าเธอจะคว้าเหรียญทองมาได้อีกครั้ง

เฉลิมฉลองให้ก้าวที่ 30 อย่างมั่นคงและยิ่งใหญ่

สำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 นี้ OMEGA ได้เผยโฉมเรือนเวลาลิมิเต็ด อิดิชั่นออกมาถึง 3 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ ‘Seamaster Aqua Terra Tokyo 2020’ ที่แบรนด์ได้หยิบหน้าปัดเซรามิกมาใช้เป็นครั้งแรกในคอลเลกชั่น ซึ่งบนหน้าปัดสีน้ำเงินขัดเงานี้ยังได้รับการสลักตราสัญลักษณ์ของ Tokyo 2020 อีกด้วย เสริมความสง่างามด้วยสายนาฬิกายางสีน้ำเงิน มาพร้อมกลไก OMEGA Master Chronometer Calibre 8900 ให้ความเที่ยงตรงและต้านทานสนามแม่เหล็กสูงที่สุดในบรรดาผู้ผลิตนาฬิกาสวิส โดยมีจำกัดเพียงแค่ 2,020 เรือนเท่านั้น

ถัดมาคือรุ่น ‘Seamaster Planet Ocean Tokyo 2020’ อวลไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นประเทศญี่ปุ่น มาในตัวเรือนขนาด 39.5 มม. ติดตั้งบนขอบเซรามิกสีขาว และเพื่ออุทิศให้กับโอลิมปิกเกมส์ในปีนี้ จึงได้เพิ่มตัวเลข 20 บนขอบตัวเรือนพร้อมบรรจุด้วยลิควิดเซรามิกสีแดง นอกจากนี้เข็มวินาทีกลางยังเป็นทรงโลลิป๊อปแบบพิเศษ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ธงชาติญี่ปุ่นอย่างงดงาม ซึ่งรุ่นนี้ก็ผลิตออกมาเพียง 2,020 เรือนเช่นเดียวกัน

ส่งท้ายกันด้วยรุ่น ‘Seamaster Diver 300M Tokyo 2020’ ที่เหมาะกับการผจญใต้เกลียวคลื่นเป็นที่สุด! ด้วยตัวเรือนสแตนเลสสตีลขนาด 42 มม. มาพร้อมขอบเรือนเซรามิกสีน้ำเงิน บรรจุสเกลดำน้ำสีขาว และสายเรือนเวลายังผลิตจากสแตนเลสสตีลกลมกลืนกับตัวเรือนอย่างงดงาม เสริมความโดดเด่นให้นาฬิการุ่นนี้ด้วยชุดเข็มเรืองแสงจากสาร Super-LumiNova การันตีมาตรฐานด้วยกลไก OMEGA Co-Axial Master Chronometer Calibre 8800

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.