Home > Watches & Jewellery > Time(pieces) Investment  การลงทุนแห่งห้วงเวลา! เผยความคิดเห็นและมุมมองที่มีต่อการ ลงทุนกับนาฬิกา จาก ดร.ณัฐเศรษฐ์ พูนทรัพย์มณี

เรียกได้ว่า การสะสมนาฬิกา ถือเป็นการลงทุนแขนงหนึ่ง ที่คุ้มค่า และมีคุณค่าต่อจิตใจในระยะยาว วันนี้ HELLO! จึงขอพาคุณไปพูดคุยกับ คุณท็อป– ดร.ณัฐเศรษฐ์ พูนทรัพย์มณี ที่ยังคงศึกษาถึงโอกาสและการ ลงทุนกับนาฬิกา อยู่เสมอ และได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และมุมมองที่เขามีต่อการลงทุนกับนาฬิกา ว่า ณ เวลานี้ยังเป็นชอยส์ที่น่าสนใจมากน้อยเพียงใด

การศึกษาในการ ลงทุนกับนาฬิกา

ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราต่างได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลือกในการลงทุนกับ “นาฬิกา” กันมากขึ้น ทว่า หลายคนอาจยังคงกังขา ว่านาฬิกาแบบไหนถึงเหมาะที่จะลงทุน หรือหากสนใจจริงๆ จะเริ่มต้นศึกษา และลงทุนแบบใดจึงจะเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าคำถามเหล่านี้ย่อมเคยเกิดขึ้นมาแล้วสำหรับนักลงทุนที่เคยลงสนามมาก่อน แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขามองว่าการลงทุนกับนาฬิกานั้น ตอบโจทย์ตนเองได้จริงหรือไม่

เหมือนกับที่ คุณท็อป-ดร.ณัฐเศรษฐ์ พูนทรัพย์มณี ผู้ซึ่งนอกเหนือจากบทบาทการเป็นนักธุรกิจในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอดีพี แพคเกจจิ้ง จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจด้านการผลิต จำหน่ายและส่งออกบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าลักชัวรี พ่วงด้วยการเป็นเจ้าของธุรกิจใหม่ อย่าง 51 avenue ทีซาลอนที่ตั้งอยู่ใน เวลา สินทร วิลเลจ หลังสวน รวมถึงการเป็น “Job Coach” สัมภาษณ์งาน เชื่อว่าหลายๆ ท่าน ยังต่างคุ้นเคยกันดีกับอีกบทบาทหนึ่งว่าเขานั้นเป็นทั้งนักสะสม และศึกษาเรื่องนาฬิกาในหลากหลายมิติมาแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นย่อมรวมไปถึงเรื่องของการลงทุนด้วย

ก่อนอื่น จากคำพูดที่ว่า ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง HELLO! จึงขอพาเข้าใจในการลงทุนกันก่อน

จากข้อมูลตลาดนาฬิกามือสองหรือ pre-owned market ที่นับว่าดึงดูดความสนใจของเหล่านักลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ พบว่า ตลาดนาฬิกามือสองนั้นมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีบางจังหวะที่ราคามีความผกผัน แต่โดยภาพรวมแล้ว ยังคงเป็นแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจอยู่มาก โดยตามการคาดการณ์ของ McKinsey (McKinsey analysis, expert interviews) รายงานว่ายอดขายของนาฬิกามือสองนั้นคาดว่าจะเติบโต 8-10% ในแต่ละปีนับจากปี ค.ศ. 2019 ถึง 2025 โดยมีตัวเลขยอดขายเพิ่มขึ้นจาก $18 พันล้านในปี ค.ศ. 2019 สู่ $29 พันล้านจนถึง $32 พันล้านในปี ค.ศ. 2025 ขณะที่ตลาดนาฬิกามือสองยังนับเป็นส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของอุตสาหกรรม และจะเติบโตมากกว่าครึ่งของตลาดมือหนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว 

ทว่า ภายใต้ตัวเลขการเติบโตเหล่านี้ ย่อมมีเงื่อนไขหลายอย่างซ่อนอยู่ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นและเริ่มสนใจในทิศทางการลงทุนกับนาฬิกา ที่น่าจะศึกษาไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนการตัดสินใจ 

สำหรับคุณท็อป ที่ได้เล่าถึงเรื่องราวการลงทุนกับนาฬิาว่า “จริงๆ แล้ว นาฬิกาในอดีตไม่เคยเป็นเรื่องของ investment มาก่อน เพิ่งมาเป็นการลงทุนเมื่อไม่นานนี้เอง สมัยก่อนเราจะเห็นคนใส่นาฬิกาเรือนหลักล้านมีไม่เยอะ แต่ตอนนี้มีเป็นจำนวนมาก เหตุผลนั้น ผมมองว่าเพราะพวกเขารู้ว่านาฬิการาคาไม่ลง และทำให้คนกล้าซื้อสินค้าลักชัวรีนี้มากขึ้น เช่น กระเป๋า หรือลักชัวรีคาร์ ก็คล้ายๆ กันกับนาฬิกา”

ซึ่งคุณท๊อป ได้แยกประเภทการลงทุนนาฬิกา ออกเป็น 2 แบบ นั่นก็คือ investment และ passion investment ที่ส่วนมากแล้วจะลงทุนกับนาฬิการุ่นปัจจุบัน และลงทุนตามความชอบ ซึ่งคุณท็อปแนะนำว่า “ถ้าสนใจลงทุนกับนาฬิกา ควรจะเป็น passion investment ก่อน กลับไปซื้อที่ชอบ เพราะมันต้องมี passion มาเป็นพื้นฐานก่อน อย่าซื้อเพราะคิดว่าหรือได้ยินมาว่าราคามันจะขึ้น ถ้าแบบนั้นเรียกว่า investment ที่ย่อมมีความเสี่ยงมากขึ้น”

จากประสบการณ์ บวกกับการติดตามเทรนด์การลงทุนกับนาฬิกามาโดยตลอด ทำให้คุณท็อปเห็นว่านอกจากปัจจัยข้างต้นที่ต้องคำนึงถึงแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจของตัวคุณเองได้อีกว่า  

“นอกเหนือจากเรื่องของเทรนด์ที่ทำให้เราอาจคล้อยตามไปทาง investment แล้ว ก่อนตัดสินใจก็ขอแนะนำอีกนิดว่าให้พยายามมองถึงข้อแตกต่างระหว่างการลงทุนแบบ passion investment และ investment ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ถ้าเป็น investment กับนาฬิกามือสอง คุณต้องดูเรื่องของ condition หรือสภาพของนาฬิกา นอกจากนี้ยังต้องละเอียดรอบคอบไปจนถึงเรื่องของปีและใบรับรองที่มีครบถ้วนสมบูรณ์​ ส่วนถ้าเป็น passion investment ดูเพียง condition ประวัติ และความน่าสนใจเฉพาะตัวของนาฬิกาเรือนนั้นๆ ดูแบบเรือนต่อเรือน เรียกว่าเน้นไปที่สภาพที่สวยสมบูรณ์ให้มากที่สุด เพราะส่วนนี้จะไม่มีราคาตลาด แต่ถ้าเป็น investment เมื่อไหร่ จะมีราคากลาง บวก/ลบเท่าไหร่จากราคาตลาด เป็นต้น ซึ่งนอกจากราคานี้แล้ว ก็อาจมีเรื่องของสภาวะตลาด เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ demand/supply ที่มีผลต่อราคาขึ้นหรือลงทั้งสิ้น… อีกทั้งยังมีเรื่องของกระบวนการผลิต การจัดส่งชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ที่ขาดแคลนของ new watches และถ้ายิ่งเป็นเรื่องของ “เครื่องกลไก” ที่บางอย่างเป็น Swiss Made ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตเช่นกัน เหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้เกิดการเติบโตของตลาดมือสองที่เมื่อความต้องการสูงขึ้น คนก็เลยแย่งซื้อ ราคาเลยดีดขึ้นตามมา”

สิ่งที่ควรมองหา และนาฬิกาแบรนด์ ที่ควรลงทุน

แน่นอนว่า หลายท่านอาจอยากรู้ ว่ามีแบรนด์ไหน ที่ควรค่าให้ลงทุนบ้าง คุณท็อปได้แนะนำเราว่า “ถ้าถามถึงนาฬิกาท็อป 5 ณ ตอนนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ามี Rolex, Patek Philippe, Audemars Piguet เป็นสามแบรนด์นาฬิกาที่แข็งแรงอยู่แล้ว และแข็งแรงมากขึ้น แต่ก็มี limitation การได้นาฬิกามาในแต่ละประเทศด้วย เพราะเขาผลิตได้ในจำนวนหนึ่งเท่านั้น ในสามแบรนด์นี้ ให้พูดกว้างๆ เลยก็เน้นไปที่กลุ่มสปอร์ต เพราะในแบรนด์เหล่านี้ นาฬิกาสปอร์ตจะนับว่าขยับเป็นกลุ่มนาฬิกาซับซ้อน”

ซึ่งสิ่งที่ควรมองหา ในการสะสมนาฬิกาเข้ากรุ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน หรือสะสมเฉยๆ ให้ลองดูที่ ความหายาก (rarity) ไว้ด้วย ผลิตน้อย ตัวพิเศษหน่อย อาทิ แบรนด์ที่นับว่ามาแรงอย่างมากคือ Vacheron Constantin ที่มีอิทธิพล และมีความหายาก จึงทำให้คนมองหางานดีไซน์ที่ใกล้เคียงกันกับความต้องการ อีกอย่างคือ ให้เน้นที่ สายเหล็ก สายโลหะ และเป็นรุ่นไอคอนิก ของแบรนด์นั้นๆ เช่น Audemars Piguet Royal Oak

นอกจากนั้น สำหรับคุณท็อปเอง คุณท็อปได้กล่าวว่า “ผมยังชอบนาฬิกาวินเทจ เช่น TUDOR หรือ Rolex เลยทำให้มีเก็บทั้งวินเทจและ new TUDOR และ new Rolex ด้วยเพราะความเป็นแบรนด์ที่คุ้มค่า ราคาดี คุณภาพดี มีความชัดเจน คลาสสิกและไม่เชย อย่างนาฬิการุ่น Bronze กับสายบรอนซ์ซึ่งไม่ค่อยมีในตลาด หรือมีน้อยมาก และเป็น complete bronze ที่สวยลงตัวดี เราก็ชอบ โดยไม่สนใจว่าราคาจะขึ้นหรือลง อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างถึงนาฬิกาที่เรามองถึงคุณภาพเขาว่าเป็นอย่างไร มีเรื่องราว มีที่มาที่ไป และยิ่งเราชอบ”

เฉกเช่นเหล่าเรือนเวลาในคอลเล็กชันของคุณท็อป ในภาพด้านบน เรียงจากซ้ายไปขวา เริ่มที่ Rolex Chronograph นาฬิกาโครโนกราฟวินเทจ ยุค 60s นาฬิกายุค Pre-Daytona เป็นนาฬิกาที่มีหน้าตาก่อนการวิวัฒนาการมาเป็นโฉมหน้าปัดของ Daytona ในปัจจุบัน และแม้จะเป็นรุ่นวินเทจ แต่ก็ยังคงสภาพดั้งเดิมที่สวยงาม ต่อเรือนถัดไป อย่าง Rolex Chronograph นาฬิกาโครโนกราฟวินเทจหายาก จากยุค 60s หรือ Pre-Daytona อีกหนึ่งเรือน ในตัวเรือนทอง 14K ซึ่งปัจจุบันไม่มีทำแล้ว

เรือนที่ 3 Rolex Cosmograph Daytona นาฬิกาติดอันดับ Top 10 รุ่นหายาก และ ณ ปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นนาฬิกาแพงที่สุดอันดับ 3 ของโลก มีชื่อเสียง และเป็นที่ตามหาจากการที่เจ้าของคือ Paul Newman โดยเคยทำราคาประมูลจบได้แพงที่สุดในโลกกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2017 มาแล้ว ด้วยจุดเด่นของหน้าปัด ‘Paul Newman’ กับขอบตัวเรือนบรรจุสเกลวัดระยะสำหรับคำนวณความเร็วเฉลี่ย Rolex Cosmograph Daytona นาฬิกาโครโนกราฟวินเทจ ด้วยหน้าปัด ‘Paul Newman’ อีกหนึ่งเวอร์ชันหายาก กับตัวเรือนและสายสเตนเลสสตีล

อย่างที่คุณท็อปกล่าว การลงทุนกันเรือนเวลาวินเทจ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณท็อปชอบ และแนะนำส่วนตัว

“ในคอลเลกชันของผมซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่ความวินเทจของนาฬิกา ผมมองว่านาฬิกาเหล่านี้คืองานศิลปะ เป็น art pieces เช่นใน Rolex Cosmograph Daytona ‘Paul Newman’ ที่นับเป็นหนึ่งในนาฬิกาแพงที่สุดโลก และปัจจุบันก็ยังคงครองตำแหน่งนาฬิกาแพงที่สุดเป็นอันดับ 3 กับเสน่ห์คือจุดเด่นของหน้าปัดที่มีเอกลักษณ์​ มีรายละเอียดและเลเยอร์การตกแต่ง ทำให้นาฬิการุ่นนี้เป็นที่ชื่นชอบของ Paul Newman และกลายเป็นที่มาของชื่อเล่นที่นักสะสมเรียกขานกัน ผลงานศิลปะเหล่านี้จึงมีความพิเศษ มีเสน่ห์เฉพาะของแต่ละเรือน มีประวัติศาสตร์และแต่ละเรื่องราวการผลิต การสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคุณค่าความสวยงามที่อยู่ภายในนาฬิกาแต่ละเรือน และความ unique เฉพาะของเรือนนั้นๆ จึงไม่สามารถเปรียบเทียบหรือตั้งมูลค่าราคาตลาดได้ ซึ่งมูลค่าย่อมขึ้นอยู่กับความสวยงาม ความชอบ และความพึงพอใจของนักสะสม ผู้ที่สนใจซื้อและครอบครองนาฬิกาวินเทจเหล่านี้ ที่คล้ายกันกับการได้ชื่นชมและครอบครองผลงานศิลปะ “

สามารถเหนได้ชัด จากนาฬิกา Rolex Oyster หลากหลายเรือนที่คุณท็อปมีครอบครอง ไม่ว่าจะเป็น Rolex Oyster Cosmograph Daytona นาฬิกาโครโนกราฟสเตนเลสสตีล หน้า ‘Panda’ จากยุค 70s และยังเป็นหน้าปัดพิเศษหายาก ซึ่งเรียกกันว่าหน้า ‘Rolex & Tiffany & Co.’ จึงเป็นนาฬิกา Double-signed dial ที่มีชื่อของสองแบรนด์มาปรากฏบนหน้าปัดเดียวกัน ทั้งยังชอบเรือนนี้เป็นพิเศษ กับสาย Jubilee ที่เรียกได้ว่าสวยสมบูรณ์แบบ ต่อที่ Rolex Oyster Cosmograph Daytona นาฬิกาโครโนกราฟวินเทจ ยุค 80s ในตัวเรือนและสายทอง ขอบตัวเรือนสีดำ กระจกยังเป็นพลาสติก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นกระจกแซฟไฟร์ในนาฬิการุ่นปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับสายแบบพิเศษเฉพาะยุคที่สามารถยืดได้ และ Rolex Oyster Cosmograph Daytona นาฬิกาโครโนกราฟวินเทจหายาก จากยุค 80s กับเอกลักษณ์ของหน้าตาที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคหรือปี และความแตกต่างของขอบตัวเรือน เรือนนี้เป็นขอบสตีล ที่ Daytona ยุคปัจจุบันเป็นขอบเซรามิก   

สำหรับเรือนสีทองสว่างด้านล่าง คือ Rolex Oyster Perpetual Cosmograph Daytona นาฬิกาโครโนกราฟวินเทจ จากยุค early 90s ด้วยหน้าปัดที่มีจุดเด่นของตัวเลข ‘Inverted 6’ หรือ ‘6 กลับ’ บนวงหน้าปัดย่อยจับเวลา และประดับเพชร มาพร้อมตัวเรือนและสายนาฬิกาทอง และ Rolex Oyster Perpetual Cosmograph Daytona นาฬิกาโครโนกราฟ ยุค early 90s เช่นกัน มีความหายากของตัวเลข ‘Inverted 6’ หรือ ‘6 กลับ’

“เสน่ห์อีกข้อหนึ่งของนาฬิกาวินเทจ ผมมองว่ายังอยู่ที่ตัวเครื่องกลไก ตลอดจนกระบวนการสร้างสรรค์งานในอดีต ที่ ณ ปัจจุบันไม่มีให้ได้เห็นอีกแล้ว ดังนั้น นาฬิกาเก่า นาฬิกาวินเทจ จึงเป็นงานฝีมือ มีความเป็นต้นตำรับและต้นแบบให้กับอีกหลากหลายวิวัฒนาการของการสร้างสรรค์นาฬิกา แต่มรดกของประเพณีการประดิษฐ์เหล่านี้ก็ยังคงได้รับการสืบทอดโดยนาฬิกาวินเทจนี้ด้วยครับ”  

การ ลงทุนกับนาฬิกา หลายท่านอาจมองว่า มันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง และอาจน่าดึงดูดใจสำหรับผู้ที่ชอบการลงทุนหลายท่าน แต่คุณท็อปก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “นาฬิกาไม่ได้เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสมัยหรือรุดหน้าได้อย่างรวดเร็ว มันยังคงถูกจำกัดด้วยงานฝีมือ ด้วยคน ด้วยช่างฝีมือ ซึ่งหากมองถึงองค์ประกอบทั้งหมด และด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ให้มองเสมอด้วยว่ามันอาจเป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และเราเอง หากอยากเป็นนักลงทุนนาฬิกาก็ต้องรู้จักปรับตัวไว้ด้วยเสมอเช่นกันครับ”  

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.